ศึกษาปริมาณสารพิษตกค้างในผลไม้: พืชตระกูลส้ม (ส้มเขียวหวาน, ส้มโอ และมะนาว) ลิ้นจี่
#1
ศึกษาปริมาณสารพิษตกค้างในผลไม้: พืชตระกูลส้ม (ส้มเขียวหวาน, ส้มโอ และมะนาว) ลิ้นจี่ ลำไย ชมพู่และฝรั่ง
วะนิดา สุขประเสริฐ, วีระสิงห์ แสงวรรณ และยงยุทธ ไผ่แก้ว
กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          สุ่มตัวอย่างพืชตระกูลส้ม ได้แก่ ส้มเขียวหวาน ส้มโอ และมะนาว ลิ้นจี่ ลำไย ชมพู่และฝรั่ง จากแหล่งที่มีการปลูกเพื่อการค้า สวนเกษตรกร และแหล่งจำหน่ายต่างๆ 36 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 717 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะนาว ลำไย ลิ้นจี่ ชมพู่และฝรั่ง จำนวน 177 147 74 175 41 50 และ 53 ตัวอย่าง ตามลำดับ นำมาตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้าง ด้วยเทคนิคโครมาโตกราฟี โดยใช้ LC-MS/MS และ GC-MS/MS ผลปรากฏว่า ตรวจพบสารพิษตกค้างทั้งหมด 20 ชนิด พบในส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะนาว ลิ้นจี่ ลำไย ชมพู่และฝรั่ง จำนวน 91 135 34 13 80 43 และ 10 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 51.4 91.8 56.6 31.7 45.7 86 และ 19 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ สารพิษตกค้างที่พบ ได้แก่ azoxystrobin, bifenthrin, buprofezin, carbaryl, chlorpyrifos, cypermethrin, l-cyhalothrin, ethion, diazinon, dimethoate, difenoconazole, deltamethrin, methidathion, metalaxyl, pirimiphos-methyl, profenofos, prothiophos, pyridaben, fenitrothion และ thiamethoxam ปริมาณอยู่ในช่วงต่ำกว่า LOQ – 7.23 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สารพิษตกค้างที่พบเกินค่ามาตรฐาน คือ chlorpyrifos จำนวน 4 ตัวอย่าง cypermethrin จำนวน 9 ตัวอย่าง ethion จำนวน 1 ตัวอย่าง และ profenofos จำนวน 6 ตัวอย่าง ในส้ม ซึ่งเกินค่ามาตรฐานที่ Codex และญี่ปุ่นกำหนดไว้ ปริมาณที่ตรวจพบ อยู่ระหว่าง 1.47 - 7.23 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในส้มโอมีเพียง cypermethrin 2 ตัวอย่าง ที่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ใน Codex MRL ส่วนมะนาวพบสารพิษตกค้างในปริมาณค่อนข้างต่ำ และทุกตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ในลำไย ลิ้นจี่ ชมพู่และฝรั่ง ยังไม่มีกำหนดค่า MRL ทั้งใน Codex และ Thai MRL แต่ในฝรั่ง มีกำหนดค่ามาตรฐานจากแหล่งต่างๆ เช่น ญี่ปุ่นกำหนด azoxystrobin ในฝรั่ง เท่ากับ 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม กำหนดใน thiamethoxam เท่ากับ 0.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ ในสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น กำหนดสารทั้งสองชนิด เท่ากับ 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งในชมพู่ยังไม่มีกำหนดค่า MRL และจากผลการตรวจวิเคราะห์ทั้งชมพู่แลฝรั่ง อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เกินค่า MRL ที่กำหนดไว้ เมื่อนำค่ามาประเมินความเสี่ยงของสารพิษตกค้างในอาหาร คำนวณร่วมกับปริมาณการบริโภคต่อวันและค่าปริมาณสารพิษตกค้างที่ตรวจพบในตัวอย่าง ยังมีบางตัวอย่างที่เกินดัชนีชี้วัดความเสี่ยง (HQ) ได้แก่ cypermethrin, dimethoate, ethion, methidathion และ profenophos ในส้มเขียวหวาน ethion และ methidathion ในส้มโอ และ ethion ในลำไย แต่อย่างไรก็ตาม ถือว่าจำนวนตัวอย่างน้อยมากที่เกินค่าเกณฑ์ความปลอดภัย เมื่อเทียบกับจำนวนตัวอย่างทั้งหมด

คำหลัก: สารพิษตกค้าง ค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้างที่ยอมรับ พืชตระกูลส้ม ลำไย ลิ้นจี่ ชมพู่ ฝรั่ง


ไฟล์แนบ
.pdf   40. ศึกษาปริมาณสารพิษตกค้างในผลไม้ พืชตระกูลส้ม ลิ้นจี่ ลำไย ชมพู่ และฝรั่ง.pdf (ขนาด: 295.26 KB / ดาวน์โหลด: 323)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม