โครงการพัฒนาการเกษตรสองฝั่งแม่น้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดขอนแก่น
#1
โครงการพัฒนาการเกษตรสองฝั่งแม่น้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดขอนแก่น
สรรเสริญ เสียงใส, สิทธิพงศ์ ศรีสว่างวงศ์, ศิริลักษณ์ พุทธวงค์, ศิริวรรณ อำพันฉาย, ปราณี นามไพร และเหรียญทอง พาน
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรขอนแก่น

          พื้นที่การเกษตรสองฝั่งแม่น้ำชี จังหวัดขอนแก่น มักประสบปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก มีสภาพแห้งแล้งมากในช่วงฤดูแล้ง และพื้นที่ส่วนหนึ่งมีปัญหาดินเค็ม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงห่วงใยพสกนิกรในพื้นที่ดังกล่าว จึงทรงดำริให้หน่วยงานราชการร่วมกันแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรจึงได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ ๓ และศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่นเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการในปี ๒๕๔๕-๒๕๕๒ โดยดำเนินการทดสอบหาชนิดพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ วิถีชุมชน และสภาพเศรษฐกิจ พบว่าการปลูกถั่วลิสงฤดูแล้งหลังนาเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรใน ๓ หมู่บ้าน ในตำบลละหานนา อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น โดยเกษตรกรยอมรับพันธุ์ถั่วลิสงที่ให้ผลผลิตสูงได้แก่ พันธุ์ขอนแก่น ๕ และพันธุ์ขอนแก่น ๖ ได้ผลผลิตฝักแห้งเฉลี่ย ๓๗๓ และ ๓๙๓ กิโลกรัมต่อไร่ ตามล้าดับ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์เดิมของเกษตรกรถึง ๘๗ และ ๑๐๗ กิโลกรัม ตามลำดับ จากนั้นในปี ๒๕๕๒ จึงได้มอบให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรขอนแก่นดำเนินการต่อเนื่องเพื่อพัฒนาระบบการเพาะปลูกพืชของเกษตรกรในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำชี ให้เกษตรกรมีอาชีพเกษตรกรรมเสริมรายได้ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ โดยทดสอบและสาธิตเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตถั่วลิสงโดยใช้เทคโนโลยีการจัดการแหล่งผลิตถั่วลิสง GAP ในฤดูกาลปลูกปี ๒๕๕๒-๒๕๕๓ พบว่า สามารถเพิ่มผลผลิตถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น ๖ ที่ปลูกในฤดูแล้ง ได้ผลผลิตฝักสดเฉลี่ย ๗๗๗ กิโลกรัมต่อไร่ ท้าให้เกษตรกรยอมรับเทคโนโลยีการผลิตมากยิ่งขึ้น ในปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ จึงได้ขยายผลไปยังเกษตรกรในพื้นที่เดิมในรูปแบบการกระจายพันธุ์และกระจายเทคโนโลยีออกไปผ่านเกษตรกรต้นแบบซึ่งเป็นผู้นำกลุ่ม และมีการขยายผลไปยังพื้นที่ใหม่ที่อำเภอมัญจาคีรี และอำเภอชนบท โดยได้ทดสอบปลูกถั่วลิสงพันธุ์ขอนแก่น ๖ เปรียบเทียบกับพันธุ์ของเกษตรกรพบว่า ถั่วลิสงมีการเจริญเติบโตดี เกิดโรคโคนเน่าน้อยกว่าแปลงเกษตรกร สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในปี ๒๕๕๓ ได้ผลผลิตฝักสดเฉลี่ย ๗๒๗ กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์และวิธีการเดิมของเกษตรกรเป็นอย่างมาก ได้กำไรเฉลี่ย ๑๐,๘๑๓ บาทต่อไร่ ท้าให้เกษตรกรยอมรับเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ประกอบกับมีตลาดรับซื้อในราคาสูงเป็นแรงจูงใจเสริม ในปี ๒๕๕๔ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง ๓ อำเภอ ๑๘๐ ราย ซึ่งเป็นช่วงเริ่มโครงการเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๔๖ จำนวน ๑๖๐ ราย ศูนย์ฯ จึงได้เริ่มจัดทำแปลงผลิตพันธุ์ถั่วลิสงเพื่อกระจายพันธุ์ให้เพียงพอแก่ความต้องการของเกษตรกร

          นอกจากการทดสอบสาธิตการผลิตถั่วลิสงแล้วยังมีการทดสอบสาธิตการเกษตรผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การผลิตและการกระจายพันธุ์อ้อยพันธุ์ขอนแก่น ๓ มีเกษตรกรให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมเพิ่มเติมจากการเพาะปลูกข้าวและถั่วลิสง นอกจากนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนจึงได้พัฒนาเกษตรกรในโครงการฯ โดยการอบรมเพื่อเพิ่มความรู้และทักษะทางการเกษตรโดยใช้วิธีการฝึกอบรมและศึกษาดูงานตามศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตรที่ประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง และมีเกษตรกรเข้าร่วมฝึกอบรมมากขึ้นทุกปี


ไฟล์แนบ
.pdf   2251 (1)_2555.pdf (ขนาด: 861.76 KB / ดาวน์โหลด: 1,334)
.pdf   2251 (2)_2555.pdf (ขนาด: 1.61 MB / ดาวน์โหลด: 1,015)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม