การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เอ็นโดสปอร์ Bacillus subtilis ควบคุมโรคเหี่ยวของขิง
#1
การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เอ็นโดสปอร์ Bacillus subtilis ควบคุมโรคเหี่ยวของขิง
บุษราคัม อุดมศักดิ์ และณัฏฐิมา โฆษิตเจริญกุล
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เอ็นโดสปอร์ Bacillus subtilis (Bs) ควบคุมโรคเหี่ยวของขิง เริ่มจากการทดสอบอาหารเลี้ยงเชื้อ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อการสร้างเอ็นโดสปอร์ ได้แก่ อุณหภูมิ ความเร็วรอบในการเขย่าระหว่างการบ่มเชื้อ ความทนทานของ Bs ที่อยู่ในระยะเอ็นโดสปอร์ในสภาพอุณหภูมิต่าง ๆ ศึกษาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ Bs ในรูปเอ็นโดสปอร์ และทดสอบประสิทธิภาพ ผลการทดลองพบว่า สูตร N3 และสูตร FFS1 สามารถกระตุ้นการสร้างเอ็นโดสปอร์ของ Bs ได้สูงสุดถึง 3.10 x 10(8) และ 2.1 x 10(8) สปอร์/มล. เมื่อเลี้ยงเชื้อเป็นเวลา 480 และ 120 ชั่วโมง ตามลำดับ การเลี้ยง Bs ในสภาพเขย่าที่ความเร็วรอบ 150 และ 200 รอบ/นาที ที่อุณหภูมิปกติ ภายใต้แสงธรรมดา เป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการเลี้ยง Bs ในการสร้างเอ็นโดสปอร์ และพบว่า Bs สามารถทนอุณหภูมิสูงถึง 100 องศาเซลเซียส โดยที่ 40 องศาเซลเซียส ซึ่งใกล้เคียงกับสภาพแปลงปลูก ปริมาณเอ็นโดสปอร์ไม่ลดลง การทดสอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ในรูปของเหลวพบว่า หลังการเก็บ 3 เดือน ปริมาณ Bs ที่มีชีวิตรอดในผลิตภัณฑ์ที่ใส่หางนมเป็นสารนำพาลดลงเพียงเล็กน้อยคือ จาก 1.1 x 10(8) โคโลนี/มล. เป็น 0.2 x 10(8) โคโลนี/มล. แต่หลังจากเก็บผลิตภัณฑ์ 5 เดือน ปริมาณ Bs เริ่มลดลง จาก 10(7) เป็น 10(6) โคโลนี/มล. ในผลิตภัณฑ์ผงพบว่า ทั้งที่ใช้ทัลคัมและแป้งข้าวโพดเป็นสารนำพา ปริมาณ Bs เริ่มต้นมีปริมาณเท่ากันคือ 10(8) โคโลนี/มล. โดยการใช้แป้งข้าวโพด ผลิตภัณฑ์ที่ได้ละลายน้ำได้ดี ในขณะที่การใช้สารทัลคัมนั้น การละลายน้ำจะมีตะกอน หลังการเก็บรักษา 7 เดือน พบว่า ปริมาณ Bs ทั้งสองผลิตภัณฑ์ลดลงเหลือ 10(7) โคโลนี/มล. ในขณะที่ปริมาณ Bs จากผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากอาหาร PSA ซึ่งไม่มีการกระตุ้นให้สร้างเอ็นโดสปอร์ไม่มี Bs ที่มีชีวิตรอด เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตพบว่า ราคาของสารนำพาทั้งสองชนิดที่นำมาใช้แปรรูปไม่แตกต่างกัน ในปี 2550 - 2551 ได้ทำการปรับวิธีการแปรรูปผลิตภัณฑ์เหลวโดยลดปริมาณหางนมลง 2 เท่า ศึกษาการเก็บรักษา และทดสอบประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์เหลวในโรงเรือนทดลองพบว่า ปริมาณ Bs ที่มีชีวิตรอดมีค่าไม่คงที่ และมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปริมาณเซลเริ่มต้นเมื่อเก็บ 5 เดือน และไม่มีความแตกต่างกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่เติมหางนม แต่จะมีปริมาณมากกว่าในผลิตภัณฑ์ที่ได้จากอาหาร PSB เปรียบเทียบการเก็บผลิตภัณฑ์ในสภาพอุณหภูมิห้องปกติและในตู้เย็นพบว่า เมื่อเก็บ 5 เดือน ปริมาณเซล Bs เพิ่มขึ้น โดยในสภาพอุณหภูมิปกติมีปริมาณมากกว่าที่เก็บในตู้เย็น แต่สำหรับผลิตภัณฑ์ผงปริมาณเซลล์ Bs ที่มีชีวิตรอด มีปริมาณลดลงเท่ากันทั้ง 2 แหล่งเก็บ การแปรรูปผลิตภัณฑ์เหลวจากการเลี้ยง Bs ในอาหาร FFS1 โดยเปรียบเทียบการเติมหางนมและไม่เติมหางนมเป็นสารนำพาพบว่า ปริมาณการมีชีวิตรอดของ Bs ไม่แตกต่างกันเมื่อเก็บไว้ 6 เดือน ในอุณหภูมิปกติและพบว่า ผลิตภัณฑ์เหลวที่ผสมปรุงแต่งจากการเลี้ยง Bs ในอาหาร FFS1 มีปริมาณ Bs ที่มีชีวิตสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเลี้ยง Bs ในอาหาร PSB การเก็บผลิตภัณฑ์ในอุณหภูมิต่ำ การมีชีวิตรอดของ Bs ในผลิตภัณฑ์ FFS1 + SM และ PSB + SM มีปริมาณลดลงมากกว่าการเก็บในอุณหภูมิปกติ ผลการทดสอบประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์เอ็นโดสปอร์ Bs ในโรงเรือนพบว่า การคลุกดินด้วยผลิตภัณฑ์ผงก่อนปลูกมีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคเหี่ยวขิงต่ำสุด และทุกกรรมวิธีสามารถลดการเกิดโรคได้เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีควบคุมการทดสอบในแปลงปลูกพบว่า การแช่หัวพันธุ์ก่อนปลูกและการคลุกดินก่อนปลูกเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ


ไฟล์แนบ
.pdf   1644_2553.pdf (ขนาด: 153.73 KB / ดาวน์โหลด: 2,734)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม