ศึกษาการผลิตสับปะรดตราดสีทองด้วยการให้น้ำ การให้ปุ๋ย และวัสดุคลุมดิน
#1
ศึกษาการผลิตสับปะรดตราดสีทองด้วยการให้น้ำ การให้ปุ๋ย และวัสดุคลุมดิน
ชูศักดิ์ สัจจพงษ์, จินดารัตน์ ชื่นรุ่ง, บพิตร อุไรพงษ์, รพีพร ศรีสถิตย์ และเสาวคนธ์ วิลเลี่ยมส์
ศูนย์วิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, กลุ่มปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5

          การศึกษาการผลิตสับปะรดตราดสีทองด้วยการให้น้ำ การให้ปุ๋ย และวัสดุคลุมดิน ได้ทดลองที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 ถึงเดือนกันยายน 2553 โดยปลูกสับปะรดตราดสีทอง มีการวางแผนการทดลองแบบ Split Plot มี 3 ซ้ำ โดย Main Plot เป็นวิธีการให้น้ำ ได้แก่ ระบบน้ำหยด ระบบมินิสปริงเกอร์ และไม่ให้น้ำ ส่วน Sub Plot เป็นวัสดุคลุมดิน ได้แก่ พลาสติกดำ ฟางข้าว กากตะกอนหม้อกรอง แกลบดิบ และไม่คลุมดิน ปริมาณน้ำที่ให้ในกรรมวิธีที่มีการให้น้ำหาโดยวิธีของ penman มีการให้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-6-15 อัตรา 50 กรัม/ต้น/ฤดู ผลการทดลองด้านการเจริญเติบโตปรากฏว่า มีความแตกต่างกันในทางสถิติที่ระดับ 5% การให้น้ำด้วยระบบมินิสปริงเกอร์และระบบน้ำหยดทำให้สับปะรดมีการเจริญเติบโตมากที่สุด ด้านผลผลิตพบว่า การให้น้ำด้วยระบบน้ำหยดและระบบมินิสปริงเกอร์มีแนวโน้มทำให้สับปะรดให้ผลผลิตสูงกว่าการไม่ให้น้ำ การใช้วัสดุคลุมดินทำให้มีความแตกต่างกันในทางสถิติที่ระดับ 5% การใช้กากตะกอนหม้อกรองเป็นวัสดุคลุมดินทำให้สับปะรดให้ผลผลิตมากที่สุดเฉลี่ยเท่ากับ 7,200.58 กิโลกรัม/ไร่ แต่ก็ไม่แตกต่างจากการใช้พลาสติกดำ ฟางข้าว และแกลบดิบเป็นวัสดุคลุมดิน ซึ่งทำให้สับปะรดให้ผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 7,113.07 6,882.69 และ 6,856.68 กิโลกรัม/ไร่ ตามลำดับ
 
          การให้น้ำทำให้ผลสับปะรดมีขนาดใหญ่กว่าการไม่ให้น้ำ โดยทำให้ความกว้างของผลสับปะรดมีความแตกต่างกันในทางสถิติที่ระดับ 5% การให้น้ำด้วยระบบน้ำหยด และระบบมินิสปริงเกอร์ทำให้ผลสับปะรดมีความกว้างมากที่สุดเฉลี่ยเท่ากับ 10.5 และ 10.4 เซนติเมตร ตามลำดับ การให้น้ำทำให้ความยาวของผลสับปะรดมีความแตกต่างกันในทางสถิติที่ระดับ 5% การให้น้ำด้วยระบบมินิสปริงเกอร์ และระบบน้ำหยดทำให้ผลสับปะรดมีความยาวที่สุดเฉลี่ยเท่ากับ 13.6 และ 13.3 เซนติเมตร ตามลำดับ การคลุมดินไม่ทำให้ผลสับปะรดมีความกว้างแตกต่างกันทางสถิติ แต่การคลุมดินทำให้ความยาวของผลสับปะรดมีความแตกต่างกันในทางสถิติที่ระดับ 5% การคลุมดินด้วยกากตะกอนหม้อกรองทำให้ผลสับปะรดมีความยาวมากที่สุด แต่ก็ไม่แตกต่างจากการคลุมดินด้วยพลาสติกดำ ฟางข้าว และแกลบดิบ การคลุมดินทำให้น้ำหนักจุกสับปะรดมีความแตกต่างกันในทางสถิติที่ระดับ 5% การคลุมดินด้วยพลาสติกดำและแกลบดิบทำให้มีน้ำหนักจุกมากที่สุด ส่วนวิธีการให้น้ำไม่ทำให้น้ำหนักจุกสับปะรดแตกต่างกันในทางสถิติ การให้น้ำและการใช้วัสดุคลุมดินไม่ทำให้ผลสับปะรดมีปริมาณ total soluble solids แตกต่างกัน การใช้กากตะกอนหม้อกรองเป็นวัสดุคลุมดินทำให้ผลสับปะรดมีเปอร์เซ็นต์กรดมากที่สุดเฉลี่ยเท่ากับ 0.95% แต่ก็ไม่แตกต่างจากการใช้พลาสติกดำ ฟางข้าว และแกลบดิบเป็นวัสดุคลุมดิน สำหรับวิธีการให้น้ำพบว่า การให้น้ำด้วยระบบมินิสปริงเกอร์ทำให้มีเปอร์เซ็นต์กรดมากที่สุดแต่ก็ไม่แตกต่างจากการไม่ให้น้ำ สำหรับความชื้นในดินปรากฏว่า การให้น้ำด้วยระบบน้ำหยดและระบบมินิสปริงเกอร์ช่วยทำให้ดินมีความชื้นสูงใกล้เคียงระดับ field capacity ตลอดฤดูปลูก การใช้วัสดุคลุมดินช่วยรักษาปริมาณความชื้นในดินสูงกว่าการไม่ใช้วัสดุคลุมดิน


ไฟล์แนบ
.pdf   1969_2553.pdf (ขนาด: 1.86 MB / ดาวน์โหลด: 838)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม