การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยหมักกากตะกอน
#1
การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยหมักกากตะกอน
ภาวนา ลิกขนานนท์, สุปรานี มั่นหมาย, ศิริลักษณ์ แก้วสุรลิขิต และธูปหอม พิเนตรเสถียร
กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          เพื่อแก้ปัญหาในการจัดการกากตะกอนน้ำทิ้งชุมชนของกรุงเทพมหานครที่ผ่านกรรมวิธีบำบัดโดยวิธีการย่อย (digested sludge) จึงทดลองนำกระบวนการทำปุ๋ยหมักมาใช้เพื่อจัดการกากตะกอนน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้ว โดยศึกษาในสภาพกองปุ๋ยที่มีขนาดใหญ่คือ มีมวลรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 3 ตัน (ความชื้น 71 เปอร์เซ็นต์) ใช้ระบบการกองแบบกองนิ่งเติมอากาศ (aerated static) และมีการใช้ bulking agent เป็นท่อนไม้ขนาดเล็กปริมาณ 20 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ทดลองเปรียบเทียบการใส่เศษพืชแห้ง 4 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ลงในกองปุ๋ยและการไม่ใส่เศษพืชแห้ง

            ผลการทดลองพบว่า การใส่เศษพืชแห้งซึ่งทำหน้าที่เป็นวัสดุเติมที่เป็นอินทรีย์ organic amendment ปริมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเพิ่มโครงสร้างให้แก่กองปุ๋ยและเพิ่มแหล่งของคาร์บอนให้แก่กิจกรรมของจุลินทรีย์ในการทำให้กากตะกอนคงตัวยิ่งขึ้น ทำให้เกิดอุณหภูมิสูงเฉลี่ยภายในกองถึง 75 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าการไม่ใส่เศษพืชแห้งซึ่งมีอุณหภูมิภายในกองเฉลี่ยเท่ากับ 57 องศาเซลเซียส และมีช่วงอุณหภูมิที่นานกว่า การผสมกากตะกอนกับเศษพืชแห้งทำให้เกิดการย่อยสลายส่วนที่เป็นอินทรีย์ในกากตะกอน (ปริมาณ volatile solids) ซึ่งเท่ากับ 46 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าการไม่ใส่เศษพืชแห้งซึ่งเท่ากับ 38 เปอร์เซ็นต์ เมื่อทดลองใช้ปุ๋ยหมักกากตะกอนกับคะน้ามีแนวโน้มว่าการใส่ปุ๋ยหมักกากตะกอนและการใส่ปุ๋ยเคมีทำให้ได้น้ำหนักคะน้าไม่แตกต่างกัน


ไฟล์แนบ
.pdf   1947_2553.pdf (ขนาด: 781.52 KB / ดาวน์โหลด: 2,057)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม