การปรับปรุงพันธุ์อ้อยในเขตภาคเหนือตอนล่าง
#1
การปรับปรุงพันธุ์อ้อยในเขตภาคเหนือตอนล่าง
รวีวรรณ เชื้อกิตติศักดิ์, ประชา ถ้ำทอง, กนกทิพย์ เลิศประเสริฐรัตน์, วิภาวรรณ ดวนมีสุข, เพ็ญรัตน์ เทียมเพ็ง, อภิวันท์ วรินทร์, กฤชพร ศรีสังข์ และสมเพชร พรมเมืองดี
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบูรณ์ และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2

          ภาคเหนือตอนล่างเป็นแหล่งปลูกอ้อยที่สำคัญของประเทศ มีพื้นที่ปลูกประมาณร้อยละ 16 ของประเทศ มีผลผลิตรวมกว่า 12.1 ล้านตัน (2551, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) และในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยมากขึ้น มีการขยายโรงงานผลิตน้ำตาลในเขตนี้มากขึ้น ในขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่ค่อนข้างต่ำประมาณ 10.87 ตัน/ไร่ มีการใช้พันธุ์หลากหลาย และพันธุ์อ้อยส่วนใหญ่นำมาจากแหล่งอื่นๆ การยกระดับผลผลิตต่อพื้นที่แนวทางหนึ่งคือ การนำพันธุ์ใหม่ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในเขตภาคเหนือตอนล่างได้ดี ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย จึงได้นำกล้าลูกอ้อยที่ผสมพันธุ์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี ในปี 2543 มาคัดเลือก ตั้งแต่ปี 2544-2546 และนำเข้าประเมินผลผลิตตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่การเปรียบเทียบเบื้องต้น เปรียบเทียบมาตรฐาน เปรียบเทียบในท้องถิ่น และทดสอบในไร่เกษตรกร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกอ้อยพันธุ์ดีเด่นที่มีผลผลิตสูงกว่าของเกษตรกรร้อยละ 5 มีความหวานหรือค่าซีซีเอสมากกว่า 12 มีการไว้ตอดี และปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมในเขตภาคเหนือตอนล่าง นำกล้าลูกอ้อยจำนวน 11 คู่ผสม จำนวน 3,280 โคลน คัดเลือกครั้งที่ 1 ได้กล้าอ้อยจำนวน 138 โคลน นำเข้าคัดเลือกครั้งที่ 2 โดยการวางแผนการทดลองแบบ Augmented design in RCB จำนวน 3 ซ้ำ ร่วมกับพันธุ์ตรวจสอบ 9 พันธุ์ จากการคัดเลือกครั้งที่ 2 คัดเลือกได้อ้อยโคนดีเด่นเข้าประเมินผลผลิตในการเปรียบเทียบเบื้องต้น การเปรียบเทียบมาตรฐาน และการเปรียบเทียบในท้องถิ่นจำนวน 25 14 และ 9 โคลนพันธุ์ จากการประเมินผลผลิตตั้งแต่ปี 2546 - ปัจจุบัน พบว่า มีอ้อยโคลนดีเด่น ได้แก่ SRS2000-5-14 ให้ผลผลิตและคุณภาพสูงกว่าพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมใช้ (LK92-11 K84-200 และอู่ทอง 3) จึงนำเข้าทดสอบในไร่เกษตรกร ในปี 2552 พบว่า อ้อยโคลน SRS2000-5-14 ให้ผลผลิต ความหวาน และผลผลิตน้ำตาลสูงกว่าพันธุ์ตรวจสอบร้อยละ 10 4 และ 16 ตามลำดับ เกษตรกรพึงพอใจอ้อยโคลนดีเด่น มีการขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น และนอกจากนี้ยังพบว่า อ้อยโคลน SRS2000-5-14 ยังมีคุณสมบัติอื่นๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งคั้นเป็นน้ำอ้อยสดได้มีรสชาติดี สีสวย กลิ่นหอม ทำเป็นอ้อยเคี้ยว หรือนำไปทำน้ำอ้อยงบได้


ไฟล์แนบ
.pdf   1812_2553.pdf (ขนาด: 95.83 KB / ดาวน์โหลด: 475)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม