โรคทุเรียน
#1
โรคทุเรียน
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร

          การจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า KM) นั้นก็ คือ แนวทางการบริหารการทำงานภายในองค์กรเพื่อทำให้เกิดการนิยาม ความรู้ขององค์กรขึ้น โดยทำการรวบรวมสร้าง และกระจายความรู้ขององค์กร เพื่อให้เกิดการต่อยอดของความรู้ โดยนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้ พัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ และนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการในสังกัดให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ และมีการเรียนรู้ร่วมกัน

          ในปีงบประมาณ 2562 สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เล็งเห็นถึงความสำคัญของการผลิตทุเรียน เพราะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การส่งออกทุเรียนของไทยได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะจากตลาดการนำเข้าของจีนที่เพิ่มขึ้นซึ่งได้ส่งผลต่อการปรับตัวของราคาทุเรียนทั้ง ในตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศ ราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นได้สร้างแรงจูงใจต่อการขยายพื้นที่การเพาะปลูกทุเรียนเป็นจำนวนมากเกษตรกรจึงต้องมีการดูแลรักษาให้ต้นทุเรียนมีความอุดมสมบูรณ์เพื่อให้พร้อมสำหรับการออกดอกติดผลและมีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อป้องกันผลผลิตเสียหาย แต่เนื่องจากทุเรียนมีศัตรูหลายชนิด และพบระบาดเป็นประจำในพื้นที่ปลูกทุเรียนทั่วไป บางชนิดมีการระบาดรุนแรงเฉพาะในบางพื้นที่ และบางชนิดมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้ต้นทุเรียนตายได้ ปัญหาที่สำคัญของทุเรียนอย่างหนึ่ง คือ ปัญหาโรครากเน่าและโคนเน่าทุเรียน สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Phytophthora palmivora ระบาดได้ดีในช่วงที่มีฝนตกหนักและมีความชื้นสูง แม้จะมีการศึกษาวิจัยแก้ปัญหานี้มากกว่า 50 ปีแล้วก็ตาม ทั้งนักวิชาการของภาครัฐและเอกชนต่างช่วยกันระดมความคิดในการแก้ปัญหาและเกษตรกรพยายามดำเนินการทุกวิถีทางที่จะปราบโรคร้ายให้หมดไป นอกจากปัญหาการระบาดของโรครากเน่าและโคนเน่า และยังมีโรคที่สำคัญอีกหลายชนิดได้แก่ โรคใบติด โรคราสีชมพู โรคราแป้งโรคแอนแทรคโนส โรคใบจุด และอาการที่เกิดจากการขาดธาตุอาหาร รวมทั้งความสับสนของเกษตรกรเกี่ยวกับโรคราสีชมพูของทุเรียนกับโรครากเน่าและโคนเน่า ที่ทำให้เกษตรกรใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคพืชไม่ถูกต้อง ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูง และป้องกันกำจัดโรคไม่ได้

           จากประเด็นปัญหาดังกล่าว สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร จึงจัดทำเอกสารวิชาการองค์ความรู้เรื่อง “โรคทุเรียน” โดยรวบรวม ทบทวน ปรับปรุงและเพิ่มเติมข้อมูลทางวิชาการที่ได้จากผลงานวิจัยของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งนำมาประมวลและกลั่นกรองให้ถูกต้องโดยผู้รู้ ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะทำงานเพื่อจัดเป็นองค์ความรู้ที่สมบูรณ์ ครบถ้วน ถูกต้อง เหมาะสม และสามารถนำไปปฏิบัติได้ ซึ่งสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เอกสารวิชาการเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ ให้แก่นักวิชาการของกรมวิชาการเกษตรซึ่งจะนำไปปรับใช้และให้คำแนะนำกับเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาด้านโรคทุเรียนให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ


ไฟล์แนบ
.pdf   2562 โรคทุเรียน.pdf (ขนาด: 92.26 MB / ดาวน์โหลด: 3,440)
ตอบกลับ