เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมมีนโยบายที่จะจัดเกรดโรงคัดบรรจุหรือล้งโดยแยกเป็นสีเขียว เหลือง และแดง เพื่อเป็นการช่วยการทำงานของชุดตรวจสอบ สามารถทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้นทันต่อฤดูผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดซึ่งมีระยะเวลาจำกัด โดยการจำแนกเกรดหรือการให้สีจะมาจากการติดตามการบริหารจัดการและพฤติกรรมของล้งที่ผ่านมา ประกอบการให้คะแนนจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร (ศวพ.) ในแต่ละภูมิภาค ซึ่งจะได้ทำรายละเอียดเกณฑ์ให้ชัดเจนอีกครั้ง
“ล้งที่ได้เป็นสีเขียว หมายถึง ล้งที่มีการปฏิบัติตามระเบียบที่กรมกำหนดและให้ความร่วมมือดีกับหน่วยงานและมีความเข้าใจกับแนวปฏิบัติ เช่น 1 .ต้องมีจุดการตรวจความสุก/อ่อน อีกครั้ง ณ โรงคัดบรรจุ 2. ล้งที่รับซื้อทุเรียน จากสวนที่ขึ้นทะเบียนมือตัดทุเรียนคุณภาพ ซึ่งในแต่ละ lot ที่ตัดจะต้องระบุชื่อ ที่อยู่ ผู้ตัดไว้ เพื่อการติดต่อประสานได้ หากมีข้อผิดพลาด โดยเฉพาะ เมื่อพบปัญหาการตัดอ่อน ส่วนสีเหลือง และแดง คือ ล้งที่อาจจะมีการปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนไปบ้าง และจะต้องเพิ่มความถี่ในการเข้าตรวจ ดังนั้น ขอชวนให้ทุกล้งปฏิบัติตามแนวทางที่กรมกำหนดเพื่อเป็นสีเขียวซึ่งถือว่าเป็นชื่อเสียงของแต่ละแห่งด้วย อย่างไรก็ตามขอให้ทุกล้งช่วยตรวจสอบทุเรียนก่อนซื้อ ไม่ซื้อทุเรียนอ่อนจากมือตัดที่ไม่รักษากติกา เพื่อรักษาคุณภาพไม่ให้มีทุเรียนอ่อนหลุดรอดออกมาตลาดหรือส่งออก “ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว
ทั้งนี้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสวนทุเรียนและโรงคัดบรรจุในพื้นที่จังหวัดตราดซึ่งเริ่มมีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดโดยได้ตัดทุเรียนพันธุ์พวงมณีลูกแรกของปี 2566 ที่สวนของนายบุญจง บุญวาที และตรวจเยี่ยมโรงคัดบรรจุ หรือล้งโกศล – ตู่ ซึ่งได้มาตรฐานจีเอ็มพีในพื้นที่ อ.เขาสมิง จ.ตราด ทั้งนี้ได้ขอความร่วมมือจากชาวสวน มือตัด และล้งในการช่วยกันไม่ตัดทุเรียนอ่อน นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 (สวพ.6 ) กล่าวว่า ในการจำแนกเกรดสีของล้งนั้น ขณะนี้ทางสวพ.6 ได้เริ่มทำข้อมูลเพื่อเตรียมให้คะแนนแล้วจะให้แล้วเสร็จก่อนฤดูทุเรียนนี้ ซึ่งทางกรมจะมอบป้ายแสดงสีให้ทางล้งไว้ติดที่สำนักงานด้วย โดยกรณีที่ล้งใดประสงค์จะขอปรับปรุงเพื่อยกระดับมาอยู่สีเขียวทางศวพ.พร้อมที่จะอำนวยความสะดวก เพราะเป้าหมายหลักของกรมคือการส่งเสริมการผลิตทุเรียนคุณภาพ
สำหรับจำนวนสวนทุเรียนทั่วประเทศ 61,637 สวน ภาคตะวันออก 27,276 สวน ภาคใต้ 29,497 สวน และพื้นที่อื่นๆ 4,864 สวน โรงคัดบรรจุทุเรียนทั่วประเทศ 1,177 แห่ง ภาคตะวันออก 619 แห่ง ภาคใต้ 462 แห่ง และพื้นที่อื่นๆ 96 แห่ง
#กรมวิชาการเกษตร #DOATOGETHER
#50ปีกรมวิชาการเกษตร
***************