คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: การคัดเลือกพันธุ์ถั่วเขียวให้ต้านทานโรคไวรัสใบด่างเหลืองในเรือนทดลอง
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
การคัดเลือกพันธุ์ถั่วเขียวให้ต้านทานโรคไวรัสใบด่างเหลืองในเรือนทดลอง
กาญจนา วาระวิชะนี, วันเพ็ญ ศรีทองชัย, สุมนา งามผ่องใส และเชาวนาถ พฤทธิเทพ
กลุ่มงานไวรัสวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท สถาบันวิจัยพืชไร่

          โรคไวรัสใบด่างเหลืองถั่วเขียว (Mumg Bean Yellow Mosaic, MYMV) สร้างความเสียหายให้กับพืชตระกูลถั่วได้ทุกระยะการเจริญเติบโตโดยเฉพาะถั่วเขียวผิวมัน เมื่อโรคเข้าทำลายในระยะต้นกล้าจะไม่สามารถเก็บผลผลิตได้เลย ดังนั้น นักปรับปรุงพันธุ์จึงพยายามปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียวที่ต้านทานโรค ทั้งนี้ต้องมีวิธีการคัดเลือกพันธุ์ที่ดีและมีประสิทธิภาพควบคู่กันไปด้วย จากการทดลองได้ทำการคัดเลือกถั่วเขียวรวม 11 สายพันธุ์ของศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท ได้แก่ KPS2, NM94-10, VC02-3-5, VC-07-1-1, CN72, NM54, NM92, SUT1 (มทส.1), Ramzan, ชน.80 และ 6601 โดยนำถั่วเขียวทุกสายพันธุ์มาปลูกเชื้อไวรัส MYMV ด้วยแมลงหวี่ขาว และสังเกตอาการรวม 45 วัน หลังจากนั้นประเมินความรุนแรงของโรคจากการสังเกตด้วยตาเปล่าและอ้างอิงตามเกณฑ์ Disease Scoring Scale (1-9) for MYMV (Sadiq et al., 2006) พบถั่วเขียว 4 สายพันธุ์ ได้แก่ KPS2, CN72, SUT1 (มทส.1), และชน.80 มีการเข้าทำลายของโรคเท่ากับ 100 % คะแนนความรุนแรงของโรคอยู่ที่ระดับ 9 หมายถึง พืชแสดงความอ่อนแอต่อโรคมาก ผลจากการสังเกตโรคด้วยตาเปล่าพบถั่วเขียว 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 6601, NM94-10, VC-07-1-1 มีแนวโน้มนำมาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ได้โดยคะแนนความรุนแรงของโรคอยู่ที่ระดับ 4, 5, 6 ตามลำดับ และถั่วเขียวสายพันธุ์ NM94-10 VC02-3-5, VC-07-1-1, NM54 , NM92, Ramzan และ 6601 พบบางต้นไม่แสดงอาการโรคใบด่างเหลืองให้เห็นเมื่อสังเกตโรคด้วยตาเปล่าจึงนำมาตรวจหาเชื้อไวรัส MYMV ด้วยเทคนิค PCR โดยใช้ specific primer พบถั่วเขียว 5 สายพันธุ์ไม่แสดงแถบดีเอ็นเอของเชื้อไวรัส MYMV ที่ขนาดประมาณ 1000 นิวคลีโอไทด์ ได้แก่ ถั่วเขียวสายพันธุ์ 6601 จำนวน 4 ต้น, VC02-3-5 และ VC-07-1-1 สายพันธุ์ละ 3 ต้น และ NM94-10 และ Ramzan สายพันธุ์ละ 2 ต้นจึงทำการเก็บเมล็ดพันธุ์จากต้นดังกล่าวให้ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาทนำไปปรับพันธุ์ต่อไป