คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: วิจัยและพัฒนาวิธีกำจัดแมลงด้วยความร้อนสำหรับกำจัดแมลงวันทองในมะม่วงพันธุ์มหาชนก
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
วิจัยและพัฒนาวิธีกำจัดแมลงด้วยความร้อนสำหรับกำจัดแมลงวันทองใน มะม่วงพันธุ์มหาชนก โชคอนันต์ และเขียวเสวยเพื่อการส่งออก
รัชฎา อินทรกำแหง, อุดร อุณหวุฒิ, สลักจิต พานคำ, ชัยณรัตน์ สนศิริ, มลนิภา ศรีมาตรภิรมย์, ชุติมา อ้อมกิ่ง และจารุวรรณ จันทรา
กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การศึกษาเบื้องต้นเปรียบเทียบความทนทานต่อความร้อนของแมลงวันผลไม้ Bactrocera dorsalis ระยะหนอนวัยที่ 1 ซึ่งเป็นระยะที่ทนทานต่อความร้อนมากที่สุดในผลมะม่วงพันธุ์เขียวเสวย มหาชนก และโชคอนันต์ เปรียบเทียบกับพันธุ์หนังกลางวัน ด้วยวิธีการอบไอน้ำแบบปรับสภาพความชื้นสัมพัทธ์ (Modified Vapor Heat Treatment, MVHT) โดยการใส่หนอนวัยที่ 1 ของแมลงวันผลไม้ จำนวน 100 ตัว/ผล เข้าไปในผลมะม่วงโดยตรง (artificial inoculation) แล้วนำไปอบไอน้ำพร้อมกับมะม่วงหนังกลางวันที่อุณหภูมิ 46.0, 46.5, 47.0, 47.0 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที 47.0 ซ. นาน 10 นาที ผลการทดลองพบว่า หนอนวัยที่ 1 ในมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ทนทานต่อความร้อนด้วยวิธีการอบไอน้ำ MVHT มากที่สุด โดยที่อุณหภูมิ 47 องศาเซลเซียส นาน 10 นาที หนอนวัย 1 ในมะม่วงมหาชนก เขียวเสวย และหนังกลางวันมีเปอร์เซ็นต์การตาย (corrected mortality) 100 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ในมะม่วงโชคอนันต์มีเปอร์เซ็นต์การตาย 97.23 เปอร์เซ็นต์


          จากผลจากการทดลองดังกล่าวจึงได้ทำการศึกษาเบื้องต้นประสิทธิภาพของวิธีการอบไอน้ำ MVHT เพื่อกำจัดหนอนวัยแมลงวันผลไม้ระยะที่ 1 ในมะม่วงโชคอนันต์ โดยทำการอบไอน้ำที่อุณหภูมิ 45.0, 46, 47.0, 47.0 องศาเซลเซียส นาน 10, 15 และ 20 นาที พบว่า ที่อุณหภูมิ 47.0 ซ. นาน 20 นาที สามารถกำจัดแมลงวันผลไม้ระยะที่ 1 ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำการศึกษาประเมินประสิทธิภาพของวิธีการอบไอน้ำ MVHT ในการกำจัดแมลงวันผลไม้จำนวนมาก (2,000 ตัว) ในมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ โดยการอบไอน้ำ MVHT ที่อุณหภูมิ 47 องศาเซลเซียส นาน 15, 20 และ 25 นาที (ผลการทดลองจาก 1 ซ้ำ) พบว่า ทุกวิธีการมีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงวันผลไม้ในระยะหนอนวัยที่ 1 ได้ 100 เปอร์เซ็นต์