คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร

เวอร์ชั่นเต็ม: การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของเชื้อแบคทีเรีย B. thuringiensis
หมายเหตุ ดูเวอร์ชันเต็ม
การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของเชื้อแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis ที่ผลิตด้วยวิธีการมาตรฐานและวิธีการผลิตแบบพื้นบ้าน
อิศเรส เทียนทัด, อัจฉรา ตันติโชดก และสมชัย สุวงศ์ศักดิ์ศรี
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ทำการเลี้ยงเชื้อ Bt ด้วยวิธีการผลิตแบบพื้นบ้านโดยใช้ถังพลาสติกขนาด 20 ลิตร เป็นภาชนะเลี้ยง ใช้ปั๊มลมขนาดเล็กสำหรับผลิตอากาศลงในถังซึ่งกรองอากาศด้วย air filter ขนาด 0.2 ไมโครเมตร และใช้นมถั่วเหลือง (ไวตามิลค์) เป็นอาหารเลี้ยงเชื้อ โดยนำมาผสมน้ำในอัตราน้ำ 15 ลิตรต่อนมถั่วเหลือง 1 ลิตร ทำการตรวจนับโคโลนี และตรวจสอบการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ชนิดอื่น หลังจากเลี้ยงเชื้อไปแล้ว 48 ชั่วโมง ทำการทดลองผลิต 4 ครั้ง พบว่า ในการผลิตครั้งที่ 1 มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ 1 ชนิด และมีปริมาณมากจนเชื้อ Bt ไม่สามารถเจริญเติบโตจนมีจำนวนมากพอที่จะหาปริมาณเชื้อได้ ในการผลิตครั้งที่ 2 มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ 2 ชนิด ได้เชื้อ Bt 7.74 x 10(4) cfu/ml ในการผลิตครั้งที่ 3 มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ 2 ชนิด ได้เชื้อ Bt 2.08 x 10(4) cfu/ml และในการผลิตครั้งที่ 4 มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ 2 ชนิด ได้เชื้อ Bt 9.65 x 10(3) cfu/ml และเมื่อนำเชื้อ Bt ที่ผลิตได้มาทำการทดสอบประสิทธิภาพกับหนอนกระทู้หอมวัยที่ 2 พบว่า เชื้อ Bt ที่ผลิตได้ไม่สามารถทำให้หนอนตายได้