การพัฒนาผลิตภัณฑ์ Bacillus subtilis สายพันธุ์ DOA-WB4 แบบผงเพื่อควบคุมโรคเหี่ยว
#1
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ Bacillus subtilis สายพันธุ์ DOA-WB4 แบบผงเพื่อควบคุมโรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรียของมันฝรั่ง
บูรณี พั่ววงษ์แพทย์, ณัฎฐิมา โฆษิตเจริญกุล, ทิพวรรณ กันหาญาติ และรุ่งนภา ทองเคร็ง
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช


          การพัฒนาผลิตภัณฑ์ Bacillus subtilis แบบผงเพื่อควบคุมโรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรียของมันฝรั่ง โดยการนำแบคทีเรียปฏิปักษ์ B. subtilis สายพันธุ์ DOA-WB4 มาพัฒนาเป็นสูตรผงสำเร็จอย่างง่าย จากนั้นจึงนำไปทดสอบในสภาพแปลงทดลอง ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 4 ซ้ำ 5 กรรมวิธี แต่ละกรรมวิธีใช้ผลิตภัณฑ์ B. subtilis สายพันธุ์ DOA-WB4 แบบผงต่างกัน คือ กรรมวิธีที่ 1 รดด้วยผลิตภัณฑ์แบบผง อัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตรทุก 7 วัน กรรมวิธีที่ 2 รดด้วยผลิตภัณฑ์แบบผง อัตรา 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตรทุก 7 วัน กรรมวิธีที่ 3 รดด้วยผลิตภัณฑ์แบบผง อัตรา 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตรทุก 7 วัน กรรมวิธีที่ 4 ใส่ผลิตภัณฑ์แบบผง อัตรา 1 กรัม/หลุม ทุก 7 วัน โดยคลุกหัวพันธุ์มันฝรั่งก่อนปลูกด้วยผลิตภัณฑ์แบบผง อัตรา 1 % โดยน้ำหนักในทุกกรรมวิธี เปรียบเทียบกับกรรมวิธีที่ 5 ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์แบบผง พบว่ากรรมวิธีที่ 1, 2, 3 และ 4 มีการเกิดโรคเหี่ยว 44.1, 26.3, 16.9 และ 47.8 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับกรรมวิธีไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ B. subtilis แบบผงที่มีการเกิดโรคเหี่ยวเท่ากับ 75.9 เปอร์เซ็นต์ สรุปได้ว่าทุกกรรมวิธีสามารถทำให้มันฝรั่งในแปลงทดลองมีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคเหี่ยวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีควบคุม ซึ่งไม่ใช้ผลิตภัณฑ์แบบผง และกรรมวิธีที่สามารถลดการเกิดโรคเหี่ยวได้ดีที่สุดคือ กรรมวิธีที่รดด้วยผลิตภัณฑ์ B. subtilis สายพันธุ์ DOA-WB4 แบบผง อัตรา 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตรทุก 7 วัน


ไฟล์แนบ
.pdf   81_2556.pdf (ขนาด: 527.95 KB / ดาวน์โหลด: 804)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม