ความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในเพลี้ยไฟฝ้าย (cotton thrips, Thrips palmi Karny)
#1
ความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในเพลี้ยไฟฝ้าย (cotton thrips, Thrips palmi Karny)
สุภราดา สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง, สมศักดิ์ ศิริพลตั้งมั่น, พวงผกา อ่างมณี และวนาพร วงษ์นิคง
กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในเพลี้ยไฟที่ทำลายกล้วยไม้เป็นปัญหาสำคัญในการดูแลรักษากล้วยไม้เพื่อการส่งออกไปต่างประเทศให้ปราศจากเพลี้ยไฟซึ่งเป็นศัตรูพืชที่ถูกกักกัน การทราบระดับความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงชนิดต่างๆที่เกษตรกรใช้ในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟจึงมีความจำเป็นในการเลือกชนิดสารฆ่าแมลงที่มีความต้านทานต่ำเพื่อใช้ในการพ่นแบบหมุนเวียน ดังนั้นจึงทำการทดลองเพื่อทราบความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงชนิดต่างๆที่เกษตรกรใช้ในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟในสวนกล้วยไม้ โดยวิธีการให้เพลี้ยไฟจากอำเภอพุทธมณฑลและอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ดูดกินกลีบกล้วยไม้ที่ชุบด้วยสารฆ่าแมลงที่อัตราแนะนำ ผลการทดลองพบว่า ในเพลี้ยไฟจากอำเภอพุทธมณฑล สารฆ่าแมลงที่เพลี้ยไฟมีความต้านทานมากคือ spiromesifen, fipronil, imidacloprid และ clothianidin เนื่องจากทำให้เพลี้ยไฟตายน้อยกว่า 50% เมื่อให้เพลี้ยไฟดูดกินกลีบกล้วยไม้ที่ชุบด้วย สารฆ่าแมลงที่อัตราแนะนำ สารฆ่าแมลงที่มีความต้านทานน้อยกว่าคือ spinosad โดยเพลี้ยไฟมีการตายมากกว่า 90% ส่วนในเพลี้ยไฟจากอำเภอนครชัยศรี สารฆ่าแมลงที่เพลี้ยไฟมีความต้านทานมาก คือ spiromesifen, imidacloprid และ clothianidin เนื่องจากทำให้เพลี้ยไฟตายน้อยกว่า 50% เมื่อให้เพลี้ยไฟดูดกินกลีบกล้วยไม้ที่ชุบด้วยสารฆ่าแมลงที่อัตราแนะนำ สารฆ่าแมลงที่มีความต้านทานน้อยกว่าคือ spinosad, emamectin benzoate และ fipronil โดยเพลี้ยไฟมีการตายถึง 80% สารฆ่าแมลงที่ใช้ในการป้องกันกำจัดหลายชนิดที่อัตราแนะนำใช้ไม่ได้ผลในการฆ่าเพลี้ยไฟ ดังนั้นจึงควรมีการปรับเปลี่ยนอัตราแนะนำใหม่ ผลการทดลองทำให้สามารถระบุสารฆ่าแมลงที่เพลี้ยไฟในแต่ละแหล่งมีความต้านทานน้อยเพื่อนำมาใช้ในการพ่นแบบหมุนเวียนเพื่อชะลอความรุนแรงของความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในอนาคต


ไฟล์แนบ
.pdf   2216_2554.pdf (ขนาด: 101.74 KB / ดาวน์โหลด: 5,631)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม