การทดสอบเทคโนโลยีการผลิตขึ้นฉ่ายปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง
#1
การทดสอบเทคโนโลยีการผลิตขึ้นฉ่ายปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง เชื้อจุลินทรีย์ (E. coli และ Salmonella spp.) และแมลงศัตรูปนเปื้อน จังหวัดขอนแก่น
กุศล ถมมา, ปราณี  วรเนตรสุดาทิพย์, วัชราพร ศรีสว่างวงศ์ และศุภชัย  อติชาติ
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3

          ดำเนินการทดสอบการผลิตขึ้นฉ่ายปลอดภัยในพื้นที่ตำบลดอนหัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น  จำนวน 2 แปลงทดสอบ แปลงละ 0.5 ไร่ แบ่งออกเป็น 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีเกษตรกร ซึ่งใช้ปุ๋ยเคมีสูตร  16-16-8 อัตรา 20 กิโลกรัม/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยคอกอัตรา 350 กิโลกรัม/ไร่ หว่านรองพื้นก่อนหว่านเมล็ด ใช้เมล็ดพันธุ์ขึ้นฉ่าย 1 กิโลกรัม/ไร่ โดยผสมสารคาร์บาริลผงกับเมล็ดก่อนโรยเมล็ดลงแปลง ส่วนกรรมวิธีทดสอบ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์มูลไก่ 200 กิโลกรัม/ไร่ หว่านรองพื้น และพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มาเมื่อต้นกล้าอายุ 10 - 15 วัน จากนั้นดูแลรักษาและให้ปุ๋ยเหมือนกันทั้ง 2 กรรมวิธี เมื่อมีแมลงหวี่ขาวระบาดในกรรมวิธีทดสอบพ่นปิโตรเลี่ยมออยล์ ส่วนกรรมวิธีเกษตรกร พ่นสารอิมิดาคลอพริด ซึ่งพบว่าสามารถควบคุมการระบาดของแมลงหวี่ขาวได้ทั้งสองกรรมวิธี ในกรรมวิธีทดสอบมีต้นทุนการผลิต 10,340 บาท/ไร่ ในขณะกรรมวิธีเกษตรกรมีต้นทุน 10,120 บาท/ไร่ ขึ้นฉ่ายที่อายุ 60 วัน ในกรรมวิธีทดสอบให้น้ำหนักผลผลิตรวมต่อพื้นที่สูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกรทั้งสองแปลงทดสอบ 15 และ 35%  และยังให้น้ำหนักเฉลี่ยต่อต้นสูงกว่า 1.66 และ 20.7% ในขณะที่การเกิดโรคโคนเน่าของกรรมวิธีทดสอบพบไม่เกิน 1% ต่ำกว่ากรรมวิธีเกษตรกร ซึ่งพบ 4 - 8% ในกรรมวิธีทดสอบได้ผลผลิต 2,220 และ 3,564 กิโลกรัม/ไร่ ขณะที่กรรมวิธีเกษตรกรได้ผลผลิต 1,692 และ 2,760 กิโลกรัม/ไร่

          จากการวิเคราะห์ปัจจัยการผลิตของเกษตรกรแปลงขยายผลจำนวน 7 ราย พบว่า ต้นทุนการซื้อหน้าดินเพื่อรองพื้นแปลงผลิตสูงกว่า 50% ของต้นทุนทั้งหมด รองลงมาคือค่าปุ๋ย ค่าแรงกำจัดวัชพืชและค่าเมล็ดพันธุ์  โดยมีต้นทุนการผลิตตั้งแต่ 4,070 – 14,882 บาท/ไร่  ได้ผลผลิตรวม 700 - 1,600 กิโลกรัม/ไร่  มีสัดส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (BCR) ตั้งแต่ 1.98 - 18.18 ซึ่งมีความแตกต่างสูงทั้งต้นทุนและผลผลิต อย่างไรก็ตามผลผลิตที่ได้จากแปลงขยายผลดังกล่าวสามารถให้ผลผลิตที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้างทุกแปลง ส่วนการทดสอบวิธีการลดการปนเปื้อนจากเชื้อ E. coli และ Salmonella spp. พบว่าการแช่ขึ้นฉ่ายในสารละลายกรดอะซิติก 0.25% นาน 30 นาที สามารถลดการปนเปื้อนของเชื้อ E. coli และ Salmonella spp. ได้ 57.96 และ 61.51% ส่วนการแช่ในสารละลายแคลเซี่ยมไฮโปคลอไรท์ 0.01% เป็นเวลา 30 นาที สามารถลดการปนเปื้อนได้ 56.98 และ 64.62% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าการแช่ขึ้นฉ่ายที่ปนเปื้อนแมลงหวี่ขาวหรือเพลี้ยอ่อนในสารละลายโพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต 0.1%  นาน 5 นาที เป็นวิธีที่สามารถกำจัดแมลงหวี่ขาวและเพลี้ยอ่อนได้ 100% และยังช่วยให้ขึ้นฉ่ายเก็บรักษาได้นานกว่า 10 วัน ที่อุณหภูมิ 6 องศาเซลเซียส โดยไม่เกิดอาการใบช้ำหรือเน่าระหว่างการเก็บรักษา


ไฟล์แนบ
.pdf   232_2557.pdf (ขนาด: 494.04 KB / ดาวน์โหลด: 1,856)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม