การทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมันพื้นที่ปลูกใหม่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
#1
การทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมันพื้นที่ปลูกใหม่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
รัตน์ติยา พวงแก้ว

กิจกรรมที่ 1 ทดสอบเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรระยะก่อนให้ผลผลิต ตามศักยภาพพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

กิจกรรมย่อยที่ 1.1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐานการผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
          การศึกษาข้อมูลพื้นฐานการผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างดำเนินการในจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ สำรวจและรวบรวมข้อมูลโดยการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง โดยคัดเลือกจากอำเภอที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน จำนวนจังหวัดละ 100 แปลง เก็บข้อมูลทั่วไปของเกษตรกร ข้อมูลแปลงปาล์มน้ำมัน สภาพพื้นที่ จัดการแปลงปาล์มน้ำมัน ข้อมูลผลผลิตปาล์มน้ำมันและการจัดการ ต้นทุนการผลิต และปัญหาและอุปสรรคในการปลูกปาล์มน้ำมัน พบว่าพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเฉลี่ย 11 - 12 ไร่ อายุปาล์มน้ำมันเฉลี่ย 1.5 - 6 ปี พันธุ์ที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นลูกผสมเทเนอร่า ซึ่งส่วนใหญ่ซื้อจากแปลงเพาะเอกชน พื้นที่ปลูกราบ - ลาดเอียง ลักษณะดินร่วนปนทรายซึ่งพื้นที่เดิมทำนา เกษตรกรส่วนใหญ่วางผังปลูกแบบสามเหลี่ยมด้านเท่า ระยะ 9 x 9 x 9 เมตร ไถเตรียมดิน 1 - 2 ครั้ง ก่อนปลูกรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมักเป็นส่วนใหญ่ การจัดการก่อนปาล์มน้ำมัน เกษตรกรมีการจัดการที่แตกต่างกัน การจัดการน้ำจะอาศัยน้ำฝนเป็นส่วนมาก มีการใส่ปุ๋ยที่แตกต่างทั้งจำนวนครั้ง อัตรา และสูตรปุ๋ย แต่ส่วนใหญ่ไม่มีการตัดแต่งช่อดอกและทางใบในระยะก่อนให้ผลผลิต ต้นทุนการผลิต ค่าต้นพันธุ์เฉลี่ย 74 - 215 บาทต่อต้น ค่าเตรียมพื้นที่ และปุ๋ยแตกต่างกันในแต่พื้นที่ ปัญหาที่สำคัญคือ เรื่องระบบน้ำ ข้อมูลด้านการตลาด พบว่าเกษตรกรน้ำผลผลิตไปขายเองที่ลานเทของแต่ละจังหวัด และบางส่วนน้ำไปขายที่โรงงาน

กิจกรรมย่อยที่ 1.2 ทดสอบเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรระยะก่อนให้ผลผลิต
          ดำเนินการในแปลงปาล์มน้ำมันของเกษตรกรที่อยู่ระยะก่อนให้ผลผลิต อายุ 2 - 3 ปี โดยคัดเลือกแปลงเกษตรกรจำนวนจังหวัดละ 3 แปลง รวม 12 แปลง พันธุ์ที่ปลูกคือ เทเนอร่า และยางกัมปิ ดำเนินการทดสอบ 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีที่ 1 วิธีแนะน้ำ การให้น้ำและการให้ปุ๋ยตามคำแนะนำกรมวิชาการเกษตร และกรรมวิธีที่ 2 วิธีเกษตรกร การให้น้ำและปุ๋ยแบบเกษตรกร บันทึกข้อมูลกรเจริญเติบโต และข้อมูลช่อดอก สรุปในภาพรวมในภาพรวมการทดสอบเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการปลูกปาล์มน้ำมันโดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกร พบว่าเกษตรกรมีการจัดการสวนที่แตกต่างกัน และแตกต่างจากคำแนะนำกรมวิชาการเกษตร เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการเจริญเติบโต และข้อมูลช่อดอก ยังไม่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เนื่องจากผลจากปัจจัยต่างๆ ที่ปาล์มน้ำมันได้รับก่อนการทดลอง จึงต้องเก็บข้อมูลการเจริญเติบโต และช่อดอกอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูการตองสนองต่อการใส่ปัจจัยต่างๆ ตามคำแนะนำ

กิจกรรมที่ 2  ทดสอบเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรระยะให้ผลผลิตตามศักยภาพพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
          ทดสอบเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรระยะให้ผลผลิต ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และบุรีรัมย์ ทดสอบในแปลงเกษตรกรจังหวัดละ 3 แปลง พันธุ์ที่ปลูก คือ เทเนอร่า ทดสอบ 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีที่ 1 วิธีแนะนำ การให้น้ำและการให้ปุ๋ยตามคำแนะนำกรมวิชาการเกษตร และกรรมวิธีที่ 2 วิธีเกษตรกร การให้น้ำและปุ๋ยแบบเกษตรกรบันทึกข้อมูลการเจริญเติบโต ข้อมูลช่อดอก และผลผลิต สรุปในภาพรวม พบว่าข้อมูลการเจริญเติบโต ได้แก่ จำนวนทางใบ จำนวนใบย่อย ความยาวทางใบ พื้นที่หน้าตัดแกนทางใบ พื้นที่และข้อมูลช่อดอก ยังไม่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เนื่องจากผลจากปัจจัยต่างๆ ที่ปาล์มน้ำมันได้รับก่อนการทดลอง จึงต้องเก็บข้อมูลการเจริญเติบโต และช่อดอกอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูการตองสนองต่อการใส่ปัจจัยต่างๆ ตามคำแนะนำ แต่ผลผลิตในกรรมวิธีแนะนำมีแนวโน้มสูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกร

กิจกรรมที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกร
          ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกรบุรีรัมย์ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 ขอขยายระยะเวลาส่งเรื่องเต็มผลงานวิจัยสิ้นสุด ปี 2559 ในชุดโครงการวิจัยทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมันในพื้นที่ปลูกใหม่ เนื่องจากรอผลการวิเคราะห์เปอร์เซ็นต์น้ำมัน ซึ่งจะต้องใช้เป็นข้อมูลในการสรุปผลการทดลอง

กิจกรรมที่ 4 การศึกษาคุณภาพปาล์มน้ำมันเพื่อกำหนดชั้นคุณภาพปาล์มและราคารับซื้อตามชั้นคุณภาพที่เหมาะสม
          ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกรบุรีรัมย์ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 ขอขยายระยะเวลาส่งเรื่องเต็มผลงานวิจัยสิ้นสุด ปี 2559 ในชุดโครงการวิจัยทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมันในพื้นที่ปลูกใหม่ เนื่องจากรอผลการวิเคราะห์เปอร์เซ็นต์น้ำมัน ซึ่งจะต้องใช้เป็นข้อมูลในการสรุปผลการทดลอง


ไฟล์แนบ
.pdf   15_2559.pdf (ขนาด: 1.04 MB / ดาวน์โหลด: 409)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม