ผลของอุณหภูมิและความชื้นที่มีต่อความเสียหายจากการทำลายของบั่วกล้วยไม้สกุลหวาย
#1
ผลของอุณหภูมิและความชื้นที่มีต่อความเสียหายจากการทำลายของบั่วกล้วยไม้, Contarinia maculipennis Felt ในกล้วยไม้สกุลหวาย
ศรีจำนรรจ์ ศรีจันทรา, วลัยพร ศะศิประภา, กรกต ดำรักษ์, พวงผกา อ่างมณี และธีราทัย บุญญะประภา
กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และกลุ่มสารสนเทศการเกษตร ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

          บั่วกล้วยไม้เป็นศัตรูพืชที่สำคัญที่สามารถสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อผลผลิตกล้วยไม้สกุลหวาย การทดลองนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาผลของปัจจัยไม่มีชีวิตที่เกี่ยวข้อง (อุณหภูมิ ความชื้น ฝน) ต่อความเสียหายจากการทำลายของบั่วกล้วยไม้ เพื่อมาสร้างแบบจำลองการระบาด ดำเนินการเก็บข้อมูลการทำลายบนช่อดอกของบั่วกล้วยไม้ในแปลงกล้วยไม้สกุลหวายของเกษตรกร อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม และอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี มีการให้น้ำแบบสปิงเกอร์และระยะเวลาการให้น้ำแตกต่างกัน ระหว่างเดือนเมษายน 2559 และมีนาคม 2560 นำข้อมูลการทำลายบนช่อดอกของบั่วกล้วยไม้ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ทำการวิเคราะห์ร่วมกับปัจจัยไม่มีชีวิตที่เกี่ยวข้อง โดยวิธีสหสัมพันธ์ พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการระบาดของบั่วกล้วยไม้ คือ ฝน อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และสามารถสร้างแบบจำลองการระบาด ได้ 3 แบบ คือ แบบที่ 1 ในหนึ่งสัปดาห์มีฝนตกอย่างน้อย 2 - 3 วัน และมีความชื้นสัมพัทธ์ที่ 18.00 น. มากกว่า 60% อย่างน้อย 2 - 3 วัน และ มีอุณหภูมิ 24 - 27 องศาเซลเซียส ที่ 7.00-8.00 น. อย่างน้อย 2 - 3 วัน แบบที่ 2 ในหนึ่งสัปดาห์มีฝนตกอย่างน้อย 2 - 3 วัน และ มีความชื้นสัมพัทธ์ที่ 18.00 น. มากกว่า 60% อย่างน้อย 2 - 3 วัน และแบบที่ 3 ในหนึ่งสัปดาห์มีความชื้นสัมพัทธ์ที่ 18.00 น. มากกว่า 60% อย่างน้อย 2 - 3 วัน และ มีอุณหภูมิ 24 - 27 องศาเซลเซียส ที่ 7.00 - 8.00 น. อย่างน้อย 2 - 3 วัน ซึ่งมีความแม่นยำ 82.97, 82.97 และ 72.34 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแบบจำลองนี้ไม่สามารถนำไปใช้กับการคาดการณ์การระบาดในแปลงกล้วยไม้ที่เป็นแปลงเดี่ยวได้


ไฟล์แนบ
.pdf   76_2560.pdf (ขนาด: 311.84 KB / ดาวน์โหลด: 739)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม