ชีววิทยาของวัชพืช Asystasia gangetica (L.) T. Anderson
#1
ชีววิทยาของวัชพืช Asystasia gangetica (L.) T. Anderson
จรัญญา ปิ่นสุภา, ปรัชญา เอกฐิน และวิไล อินทรเจริญสุข
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ศึกษาชีววิทยาของวัชพืช Asystasia gangetica (L.) T. Anderson ชื่อไทยว่า บาหยา ซึ่งเป็นวัชพืชที่สำคัญในพืชปลูก ได้แก่ ไม้ผล ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สับปะรด เป็นต้น การศึกษาข้อมูลทางชีววิทยาจะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการหาแนวทางการควบคุมและป้องกันกำจัดที่เหมาะสมต่อไป ดำเนินการทดลอง ในเรือนทดลองและห้องปฏิบัติการ กลุ่มวิจัยวัชพืช ในเดือนตุลาคม 2559 - ตุลาคม 2560 การศึกษาชีววิทยาของต้น บาหยา (Asystasia gangetica) ประกอบด้วยการศึกษาวงจรชีวิทยา การเจริญเติบโต และการขยายพันธุ์พบว่า บาหยา เป็นวัชพืชอายุข้ามปี สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งเมล็ดและลำต้น หลังจากเมล็ดงอกประมาณ 1 สัปดาห์ มีใบจริงเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้าม และมีการเจริญเติบโตทางด้านใบและลำต้นอย่างรวดเร็ว สร้างเมล็ดที่ระยะ 7 สัปดาห์หลังงอกและหลังจากดอกบาน 2 - 3 สัปดาห์ หรือเมล็ดสุกแก่ 9 - 10 สัปดาห์หลังงอก และในช่วง 15 สัปดาห์หลังงอก ต้นบาหยาติดผลมากที่สุด จากนั้นในช่วง 19 สัปดาห์หลังงอก การเจริญเติบโตลดลงทั้งทางด้านลำต้น ใบ การสร้างผลและเมล็ดลดลง การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดพบว่า เมล็ดอยู่บนผิวดิน มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงถึง 92.8 เปอร์เซ็นต์ หากเมล็ดอยู่ในระดับความลึกของดิน 15 เซนติเมตร เมล็ดไม่สามารถงอกได้ เช่นเดียวกับส่วนของลำต้น


ไฟล์แนบ
.pdf   183_2560.pdf (ขนาด: 341.49 KB / ดาวน์โหลด: 635)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม