วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงมวนเขียวดูดไข่ Cyrtorhinus lividipennis Reuter
#1
วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงมวนเขียวดูดไข่ Cyrtorhinus lividipennis Reuter เป็นปริมาณมากและการนำไปใช้ควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล Nilaparvata lugens (Stål)
รจนา ไวยเจริญ, ประภัสสร เชยคำแหง, พัชรีวรรณ จงจิตเมตต์ และภัทรพร รรพนุเคราะห์
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช 

          การสำรวจเพื่อเก็บรวบรวมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและมวนเขียวดูดไข่ในนาข้าวพบว่า เริ่มพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี สุพรรณบุรี และชัยนาท และพบการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในเดือนมีนาคม 2560 ที่จังหวัดชัยนาท และสุพรรณบุรี แต่ต่อจากนั้นไม่พบการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งในแปลงที่พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะพบมวนเขียวดูดไข่ซึ่งเป็นแมลงศัตรูธรรมชาติอาศัยอยู่ร่วมกัน

          การประเมินประสิทธิภาพและทดสอบความชอบของมวนเขียวดูดไข่ในการกินเหยื่อและทดสอบประเมินประสิทธิภาพการกินเหยื่อต่างกันของมวนเขียวดูดไข่ พบว่ามวนเขียวดูดไข่สามารถดูดกินไข่และตัวหนอนแมลงวันผลไม้ได้ แต่สำหรับประสิทธิภาพในการกินไข่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังไม่สามารถทำการทดลองได้ต่อเนื่อง เนื่องจากยังไม่สามารถเก็บไข่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ต่อเนื่อง

          การศึกษาวิธีการเพาะเลี้ยงมวนเขียวดูดไข่ในห้องปฏิบัติการด้วยเหยื่อชนิดต่างๆ ได้ทำการทดลองหาวิธีการเพาะเลี้ยงโดยใช้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และไข่ผีเสื้อข้าวสาร Corcyra cephalonica พบว่ามวนเขียวดูดไข่ตัวเต็มวัยและตัวอ่อนทุกวัยสามารถใช้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและไข่ผีเสื้อข้าวสารเป็นเหยื่อและสามารถเจริญเติบโต ผสมพันธุ์ ออกไข่และให้ลูกหลานได้ ซึ่งจะได้ทำการศึกษาวิธีเพาะเลี้ยงมวนเขียวดูดไข่โดยใช้ไข่ผีเสื้อข้าวสารเป็นเหยื่อต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   243_2560.pdf (ขนาด: 396.27 KB / ดาวน์โหลด: 2,002)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม