ผลกึ่งเรื้อรังของสารสกัดจากกากเมล็ดชากำจัดหอยที่มีต่อเหงือกและเนื้อเยื่อตับปลานิล
#1
ผลกึ่งเรื้อรังของสารสกัดจากกากเมล็ดชากำจัดหอย Camellia sinensis L. ที่มีต่อเหงือกและเนื้อเยื่อตับของปลานิล Oreochromis niloticus L.
ดาราพร รินทะรักษ์, สมเกียรติ กล้าแข็ง และปราสาททอง พรหมเกิด
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพของเหงือกและเนื้อเยื่อตับของปลานิล Oreochromis niloticus Linn. ภายหลังได้รับสารสกัดกากเมล็ดชากำจัดหอย Camellia sinensis L.โดยทำการทดลองหาค่าความเป็นพิษเฉียบพลันตามวิธี Acute Static Toxicity Test ใช้ลูกปลานิลอายุ 1 เดือน แบ่งการทดลองออกเป็น กลุ่มทดสอบสารสกัดกากเมล็ดชากับกลุ่มควบคุม และกลุ่มสารเปรียบเทียบ metaldehde 80%WP ทำการทดลองกลุ่มละ 3 ซ้ำ ทดสอบด้วยการทำ range finding test กำหนดความเข้มข้นสารสกัดกากเมล็ดชาเป็นช่วง คือ 1, 10, 100, 1,000 และ 10,000 ppm. ได้ความเข้มข้นที่ทำให้ลูกปลานิลตายใกล้ค่า 50% อยู่ระหว่าง 10 -100 ppm. จึงนำมาทดสอบด้วย definitive test ได้ความเข้มข้นที่ทำให้ลูกปลานิลตายใกล้ค่า 50% อยู่ระหว่าง 40 - 60 ppm. นำมาวิเคราะห์หาค่า LC50 โดยใช้โปรแกรม probit analysis ได้ค่า LC50 (ที่ 96 ชั่วโมง) 47.53 ppm. และจากค่าดังกล่าวนำมาคำนวณหาค่าความเข้มข้นของสารสกัดกากเมล็ดชา ที่จะใช้ในการทดสอบความเป็นพิษกึ่งเรื้อรังต่อไปในปี 2555

          ผลการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของเหงือกและเนื้อเยื่อตับปลานิล เมื่อนำมาผ่านกระบวนการทางฮิสโตเคมีด้วย paraffin method และย้อมด้วยสี heamatoxylin & eosin (H & E) ศึกษาใต้กล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงพบว่า เนื้อเยื่อเหงือกของปลานิลกลุ่มทดสอบสารสกัดกากเมล็ดชามีเซลล์เม็ดเลือดแดงจำนวนมากคั่งอัดแน่นอยู่ตามเส้นเลือดฝอยบริเวณซี่เหงือก และบริเวณ gill arch ซึ่งลักษณะดังกล่าวแตกต่างจากกลุ่มควบคุมที่เซลล์เม็ดเลือดแดงมีการเรียงตัวเดี่ยวๆ อย่างเป็นระเบียบอยู่ภายในเส้นเลือดฝอย ส่วนตับปลานิลทุกกลุ่มไม่พบความแตกต่างของเนื้อเยื่อตับ


ไฟล์แนบ
.pdf   2126_2554.pdf (ขนาด: 444.18 KB / ดาวน์โหลด: 1,923)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม