กลไกความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในหนอนใยผัก (diamondback moth, Plutella xylostella (L.))
#1
กลไกความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงในหนอนใยผัก (diamondback moth, Plutella xylostella (L.))
สุภราดา สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง, สมศักดิ์ ศิริพลตั้งมั่น, พวงผกา อ่างมณี และวนาพร วงษ์นิคง
กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การทราบกลไกความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงแต่ละชนิดจะช่วยในการตัดสินใจเลือกชนิดสารฆ่าแมลงเพื่อใช้ในแผนการใช้สารฆ่าแมลงแบบหมุนเวียนกันอย่างถูกหลักการบริหารจัดการความต้านทานต่อสารฆ่าแมลง ดังนั้นจึงทำการทดลองเพื่อทราบกลไกความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงที่ใช้ในการป้องกันกำจัดหนอนใยผัก โดยการใช้สารเพิ่มประสิทธิภาพชนิดต่างๆ คือ piperonyl butoxide (PBO), triphenyl phosphate (TPP) และ diethyl maleate (DEM) ในความเข้มข้นที่เหมาะสมเพื่อยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทำลายพิษในตัวหนอนใยผัก โดยวิธีหยดสารเพิ่มประสิทธิภาพลงบนตัวหนอนประมาณ 1 - 2 ชั่วโมงก่อนให้หนอนกินใบผักที่ชุบสารฆ่าแมลง และโดยวิธีผสมสารเพิ่มประสิทธิภาพในสารฆ่าแมลงแล้วเอาใบกะหล่ำปลีชุบให้หนอนกิน ผลการทดลองในปี 2554 พบว่า วิธีหยดสารเพิ่มประสิทธิภาพลงบนตัวหนอนต้องใช้ PBO เข้มข้น 150 ppm, TPP เข้มข้น 150 ppm, DEM เข้มข้น 300 ppm ตามลำดับ ไม่ทำให้หนอนใยผักจากอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรีตายเกิน 10% ส่วนในปี 2555 พบว่า วิธีผสมสารเพิ่มประสิทธิภาพในสารฆ่าแมลงต้องใช้ PBO เข้มข้น 100 ppm, TPP เข้มข้น 100 ppm, DEM เข้มข้น 100 ppm ตามลำดับ ไม่ทำให้หนอนใยผักจากอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรีตายเกิน 10% ส่วนหนอนใยผักสายพันธุ์อ่อนแอจากอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และจากอำเภอทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์ ต้องใช้ PBO เข้มข้น 50 ppm, TPP เข้มข้น 50 ppm, DEM เข้มข้น 50 ppm ผลการทดลองเพื่อทราบกลไกความต้านทานของหนอนใยผักจากอำเภอบางบัวทองต่อสารฆ่าแมลง chlorantraniliprole พบว่า ความต้านทานมีเอ็นไซม์ monooxygenase เกี่ยวข้องเป็นส่วนใหญ่เพราะสาร PBO ให้ค่า synergism ratio สูงที่สุด คือ 2.08


ไฟล์แนบ
.pdf   2419_2555.pdf (ขนาด: 266.23 KB / ดาวน์โหลด: 2,415)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม