โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือใช้จากมังคุด
#1
โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือใช้จากมังคุด
มาลัยพร เชื้อบัณฑิต, ธีรวุฒิ ชุตินันทกุล, สำเริง ช่างประเสริฐ และอภิรดี กอร์ปไพบูลย์
ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

          การพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือใช้จากมังคุด มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการยืดอายุการเก็บรักษามังคุดเพื่อการส่งออก โดยชะลอกระบวนการสุกและการพัฒนาสีเปลือก และการเพิ่มมูลค่าการใช้ประโยชน์จากจากเปลือกมังคุด เพื่อป้องกันกำจัดเชื้อราที่ผิวผลไม้ ทำการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 - กันยายน พ.ศ. 2555 โดยแบ่งออกเป็น 3 การทดลอง ได้แก่ 1) ศึกษาการยืดอายุการเก็บรักษามังคุดผลสดโดยการประยุกต์ใช้ CMC (carboxymethyl cellulose) ร่วมกับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ 2) การประยุกต์ใช้สารสกัดจากเปลือกมังคุดเพื่อการป้องกันเชื้อราในฟิล์มเคลือบผลไม้ และ 3) ศึกษาสถานะของสาร 1-MCP ที่เหมาะสมต่อการชะลอการเปลี่ยนสีผิวเปลือกมังคุดเพื่อการส่งออก ผลการเคลือบผิวมังคุดด้วยสาร CMC ความเข้มข้น 0.2 เปอร์เซ็นต์ ร่วมกับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13.1 องศาเซลเซียส สามารถยืดอายุการเก็บรักษามังคุดได้นาน 28 วัน โดยคงความสดของขั้ว กลีบเลี้ยง และสีผิวเปลือกอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และการป้องกันกำจัดเชื้อราโดยใช้สารสกัดจากเปลือกมังคุด (Xanthone) พบว่าที่ความเข้มข้น 75 เปอร์เซ็นต์ ของสาร xanthone มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเกิดเชื้อราในผลลองกองได้ดีที่สุด เท่ากับ 6.06 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใช้สาร ซึ่งมีค่าเฉลี่ยการเกิดเชื้อราเท่ากับ 19.05 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ความเข้มข้นของสาร Xanthone ที่ระดับต่างๆ ไม่มีผลทำให้ค่าความหวานของผลกองกองแตกต่างกัน และการศึกษาสถานะของสาร 1-MCP ที่เหมาะสมต่อการชะลอการเปลี่ยนสีผิวเปลือกมังคุดพบว่า สาร 1-MCP สถานะแก๊ส ความเข้มข้น 2,000 พีพีเอ็ม สามารถชะลอการเปลี่ยนสีผิวมังคุดได้นาน 28 วัน อีกทั้งยังเป็นสถานะที่สามารถนำไปใช้งานได้ง่ายเมื่อเทียบกับสารสถานะอื่นๆ จากการทดลองทั้งหมด สามารถเลือกวิธีการที่จะนำไปใช้ในการรักษาความสดของขั้ว กลีบเลี้ยง และชะลอการเปลี่ยนสีผิวเปลือกมังคุดได้ โดยจะเลือกใช้วิธีการเคลือบผิว หรือการรมด้วยสาร ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ประกอบการ และการยอมรับของผู้บริโภค ส่วนการป้องกันกำจัดเชื้อราในลองกองโดยใช้สารสกัด Xanthone จากเปลือกมังคุดยังใช้ได้ในห้องปฏิบัติการเนื่องจากสารสกัดที่ได้มีความเข้มข้นสูง สารที่ได้มีคุณสมบัติเหนียวข้นเป็นสีดำเมื่อจะใช้ต้องนำมาละลายด้วยตัวทำละลายจะใช้เวลานาน นอกจากนี้ในการสกัดแต่ละครั้งความบริสุทธิ์ของสารจะไม่แน่นอน การจะนำไปเผยแพร่ให้กับเกษตรกรจึงยังไม่เหมาะสมในการปฏิบัติของเกษตรกร จึงควรจะมีการพัฒนาการสกัดสาร Xanthone ให้ใช้ได้ง่ายและมีความบริสุทธิ์ของสารที่แน่นอนก่อนนำไปใช้ได้ต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   13_2555.pdf (ขนาด: 756.05 KB / ดาวน์โหลด: 5,333)
ตอบกลับ


ข้อความในเรื่องนี้
โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือใช้จากมังคุด - โดย doa - 10-05-2016, 04:14 PM



ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม