พัฒนาเทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเงาะผลสด
#1
พัฒนาเทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเงาะผลสด
สำเริง ช่างประเสริฐ

          เงาะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของตลาดนั้นเอง แต่เงาะมีข้อจำกัด คือ เมื่อเก็บเงาะมาจากต้นแล้วจะมีกระบวนการพัฒนาคุณภาพของผล ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพและสีขนและเปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลภายใน 3 - 4 วัน เมื่อตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง จากปัญหาดังกล่าวทำให้ต้องมีการวิจัยการหลังการเก็บเกี่ยวเงาะเพื่อชะลอการเสื่อมสภาพของเงาะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการจัดการระบบ Cold – Chain โดยวิธี Pre-cooling ในขั้นตอนหลังการเก็บเกี่ยว และพัฒนาเทคโนโลยีการยืดอายุการเก็บรักษาของเงาะโดยใช้สารธรรมชาติ ดำเนินงานที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี วิธีการดำเนินงานจะลดความร้อนจากผลเงาะเพื่อลดอัตราการหายใจ โดยใช้ระบบ Cold-Chain โดยวิธี Pre – Cooling ร่วมกับสารเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยว วิจัยการเคลือบผิวเงาะด้วย palm oil เพื่อยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยว และพัฒนาการเคลือบผิวจาก Carboxymethyl Cellulose (CMC) ในการยืดอายุเงาะหลังการเก็บเกี่ยว โดยเก็บรักษาในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 13 °C ผลการดำเนินงานพบว่า การใช้ระบบ Cold-Chain โดยวิธี Pre – Cooling ร่วมกับสารเพิ่มประสิทธิภาพ การเคลือบผิวเงาะด้วย palm oil และ Carboxymethyl Cellulose (CMC) ทำให้สามารถยืดอายุเงาะให้มีคุณภาพได้ประมาณ 12 วัน ซึ่งคุณภาพยังเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค แต่ทั้งนี้ผลการทดลองที่ได้จะต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติมให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

1. การพัฒนาการจัดทำระบบ Cold-Chain โดยวิธี Pre – Cooling หลังเก็บเกี่ยว เพื่อชะลออาการขนเหี่ยวดำของเงาะ
สำเริง ช่างประเสริฐ, อภิรดี กอร์ปไพบูลย์, อรวินทินี ชูศรี และสุจิตรา แดงนาวงษ์

          การทดลองการพัฒนาการจัดการระบบ Cold – Chain โดยวิธี Pre-cooling ในขั้นตอนหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อยืดอายุการเก็บเกี่ยวและชะลออาการขนเหี่ยวดำของเงาะเพื่อการส่งออก วางแผนการทดลองแบบ Completely Randomized Design (CRD) 4 กรรมวิธี 5 ซ้ำ ประกอบด้วย กรรมวิธีที่ 1 การ non pre cooling (ควบคุม) กรรมวิธีที่ 2 การ pre cooling + สารส้ม กรรมวิธีที่ 3 การ pre cooling + Jasmonic acid และวิธีที่ 4 การ pre cooling + Brassinosteroide ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี จากการทดลองพบว่าค่า TA TSS และ TSS/TA ในวันที่ 0 3 6 และวันที่ 9 ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ แต่เมื่อเก็บรักษาถึงวันที่ 12 วันค่าของ TA TSS และ TSS/TA มีความแตกต่างกันทางสถิติ ค่าความสว่างของเนื้อ ในวันที่ 0 มีค่าเท่ากับ 44.80 44.40 44.40 และ 44.33 ตามลำดับ ในส่วนวันที่ 12 มีค่าเท่ากับ 43.77 43.95 43.87 และ 43.94 ตามลำดับ ค่าความแน่นเนื้อของเงาะในวันที่ 0 มีค่าเท่ากับ 3.40 นิวตัน 3.55 นิวตัน 3.31 นิวตัน และ 3.56 นิวตัน ส่วนวันที่ 12 ของการเก็บรักษามีค่าเท่ากับ 3.56 นิวตัน 3.36 นิวตัน 3.56 นิวตัน และ 3.36 นิวตัน ตามลำดับ การใช้ระบบ pre cooling ผสมกับสารเพิ่มประสิทธิภาพทุกกรรมวิธีสามารถรักษาคุณภาพภายในของเงาะได้จำนวน 12 วัน แต่สามารถป้องกันการเกิดอาการเหี่ยวดำของขนเงาะได้เพียง 9 วันเท่านั้น โดยกรรมวิธีการ pre cooling + Jasmonic acid และวิธีที่ 4 การ pre cooling + Brassinosteroide ให้ผลในการป้องกันขนเหี่ยวดำได้น้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีอื่น

2. วิจัยและพัฒนาการเคลือบผิวเงาะด้วย palm oil เพื่อยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยว
สำเริง ช่างประเสริฐ, อภิรดี กอร์ปไพบูลย์, อรวินทินี ชูศรี และสุจิตรา แดงนาวงษ์

          การวิจัยและพัฒนาการเคลือบผิวเงาะด้วย palm oil เพื่อยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยววางแผนการทดลองแบบ Completely Randomized Design (CRD) มี 5 กรรมวิธี 7 ซ้ำ คือ กรรมวิธีจุ่ม น้ำกลั่น กรรมวิธีเคลือบผลเงาะด้วย palm oil ความเข้มข้น 0.5% กรรมวิธีเคลือบผลเงาะด้วย palm oil ความเข้มข้น 1.0% กรรมวิธีเคลือบผลเงาะด้วย palm oil ความเข้มข้น 1.5% และกรรมวิธีเคลือบผลเงาะด้วย palm oil ความเข้มข้น 2.0 % เก็บรักษาไว้ทีอุณหภูมิ 13 °C ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี จากการทดลองพบว่า ค่า TA ในวันที่ 0 3 9 และ 12 ของการเก็บรักษาและไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ แต่ในวันที่ 6 มีความแตกต่างกันทางสถิติ และมีแนวโน้มค่า TA ที่ลดลงตามระยะเวลาการเก็บรักษา ค่า TSS ในวันที่ 0 3 และ 12 ของการเก็บรักษาไม่มีความแตกต่างกันทางสถิต แต่ในวันที่ 6 และ 9 ของการเก็บรักษามีความแตกต่างทางสถิติ และทุกกรรมวิธีมีแนวโน้มการลดลงของค่า TSS ตามอายุการเก็บรักษา และ TSS/TA ในวันที่ 0 และวันที่ 3 ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ แต่เมื่อเก็บรักษาถึงวันที่ 6 9 และ 12 ของการเก็บรักษา มีความแตกต่างกันทางสถิติ และมีค่าเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเก็บรักษา ค่าความสว่างของเนื้อพบว่า ในวันที่ 0 3 9 และ วันที่ 12 ของการเก็บรักษาไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติแต่ในวันที่ 6 และ 9 ของการเก็บรักษามีความแตกต่างทางสถิติ โดยทุกกรรมวิธีมีค่าความสว่างของเนื้อลดลงตามระยะเวลาการเก็บรักษา ค่าความแน่นเนื้อของเงาะในวันที่ 0 3 6 และวันที่ 12 ของการเก็บรักษาไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ แต่วันที่ 9 ของการเก็บรักษามีความแตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ความแน่นเนื้อจะลดลงตามระยะเวลาการเก็บรักษา เมื่อทดสอบความพอใจโดยการชิมแล้วให้คะแนนพบว่า ผู้ชิมให้การยอมรับด้านคุณภาพภายใน ถึงวันที่ 9 ของการเก็บรักษา และลดลงตามระยะเวลาจนถึงวันที่ 12 ของการเก็บรักษา โดยกรรมวิธีเคลือบผลเงาะด้วย palm oil ความเข้มข้น 0.5% และเคลือบผลเงาะด้วย palm oil ความเข้มข้น 1.0% มีคะแนนมากที่สุด ซึ่งเมื่อดูความชอบคะแนนความชอบในวันที่ 9 และ 12 มีคะแนนไม่แตกต่างกัน

3. วิจัยและพัฒนาการเคลือบผิวจาก Carboxymethyl Cellulose (CMC) ในการยืดอายุผลเงาะหลังการเก็บเกี่ยว
สำเริง ช่างประเสริฐ, อภิรดี กอร์ปไพบูลย์, อรวินทินี ชูศรี และสุจิตรา แดงนาวงษ์

          การวิจัยและพัฒนาการเคลือบผิวจาก Carboxymethyl Cellulose (CMC) ในการยืดอายุผลเงาะหลังการเก็บเกี่ยว วางแผนการทดลองแบบ CRD มี 7 กรรมวิธี 5 ซ้ำ คือ กรรมวิธีไม่มีการเคลือบผิว กรรมวิธีเคลือบผิวด้วยฟิล์มเตรียมจากเปลือกทุเรียน 0.02% กรรมวิธีเคลือบผิวด้วยฟิล์มเตรียมจากเปลือกทุเรียน 0.04% กรรมวิธีเคลือบผิวด้วยฟิล์มเตรียมจากเปลือกทุเรียน 0.08% กรรมวิธีเคลือบผิวด้วยฟิล์มที่มีจำหน่ายตามท้องตลาด 0.02% กรรมวิธีเคลือบผิวด้วยฟิล์มที่มีจำหน่ายตามท้องตลาด 0.04% กรรมวิธีเคลือบผิวด้วยฟิล์มที่มีจำหน่ายตามท้องตลาด 0.08% และเก็บรักษาไว้ทีอุณหภูมิ 13 °C ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี จากการทดลองพบว่า ค่า TA ในวันที่ 0 และ 9 ของการเก็บรักษาไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ แต่ในวันที่ 3 6 และ 12 ของการเก็บรักษามีความแตกต่างกันทางสถิติ และมีแนวโน้มค่า TA ที่ลดลงตามระยะเวลาการเก็บรักษา ค่า TSS ในวันที่ 0 3 และ 6 ของการเก็บรักษาไม่มีความแตกต่างกันทางสถิต แต่ในวันที่ 9 และ 12 ของการเก็บรักษามีความแตกต่างทางสถิติ และทุกกรรมวิธีมีแนวโน้มการลดลงของค่า TSS ตามอายุการเก็บรักษา และ TSS/TA ในวันที่ 0 และวันที่ 3 ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ แต่เมื่อเก็บรักษาถึงวันที่ 6 9 และ 12 ของการเก็บรักษา และค่า TSS/TA จะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเก็บรักษา ค่าความสว่างของเนื้อ พบว่าไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ โดยทุกกรรมวิธีมีค่าความสว่างของเนื้อลดลงตามระยะเวลาการเก็บรักษา ค่าความแน่นเนื้อของเงาะในวันที่ 0 3 และวันที่ 6 ของการเก็บรักษาไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ แต่วันที่ 12 ของการเก็บรักษามีความแตกต่างกันทางสถิติ แต่ทั้งนี้ความแน่นเนื้อจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเก็บรักษา


ไฟล์แนบ
.pdf   303_2556.pdf (ขนาด: 643.34 KB / ดาวน์โหลด: 2,291)
ตอบกลับ


ข้อความในเรื่องนี้
พัฒนาเทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเงาะผลสด - โดย doa - 10-14-2016, 10:01 AM



ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม