เชื้อพันธุ์อ้อยป่า (พง) ในประเทศไทยและการใช้ประโยชน์
#1
เชื้อพันธุ์อ้อยป่า (พง) ในประเทศไทยและการใช้ประโยชน์
วีระพล พลรักดี, ทักษิณา ศันสยะวิชัย, Misa Tagane, Shuichiro Tagane และYoshifumi Terajima
ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น, Japan International Research Center for Agricultural Sciences

          พันธุ์อ้อยในอนาคตควรเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ไว้ตอได้นาน และทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม พง (Saccharum spontaneum) เป็นพืชในสกุลเดียวกับอ้อยสามารถผสมกับอ้อยได้ มีลักษณะเด่นคือ ไว้ตอได้นาน ทนแล้ง ทนน้ำท่วมขัง และมีเปอร์เซ็นต์เยื่อใยสูง ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น ร่วมกับ Japan International Research Center for Agricultural Sciences (JIRCAS) ได้รวบรวมเชื้อพันธุกรรมพงทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทยรวม 500 ตัวอย่าง เพื่อใช้ประโยชน์จากเชื้อพันธุกรรมในการปรับปรุงพันธุ์อ้อย ได้ศึกษาลักษณะต่าง ได้แก่ ความสูง ขนาดลำขนาดใบ ค่าบริกซ์ และวันดอกบาน โดยบันทึกจากทั้ง 500 ตัวอย่าง และเลือก 14 ตัวอย่างเพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ จำนวนโครโมโซม และ ความใกล้ชิดของเชื้อพันธุกรรมโดยใช้  Simple Sequence Repeats (SSRs) จำนวน 4 primers (SMC222CG [(CA)24], mSSCTR19 [(GA)23], mSSCIR70 [(GT)28], และ mSSCIR75 [(GGC)8]) พบว่า เชื้อพันธุกรรมของพง มีความสูงอยู่ในช่วง 96-405 เซนติเมตร ค่าเฉลี่ย 275 เซนติเมตร มีขนาดลำอยู่ในช่วง 3.4-13.1 มิลลิเมตร ค่าเฉลี่ย 6.5 มิลลิเมตร มีความยาวของแผ่นใบอยู่ในช่วง 53.3-150.0 เซนติเมตร ค่าเฉลี่ย 97.3 เซนติเมตร มีค่า Brix อยู่ในช่วง 3.5-20.1 เปอร์เซ็นต์ ค่าเฉลี่ย 10.1 เปอร์เซ็นต์ มีดอกบานในช่วง 28 กันยายน-11 มกราคม ค่าเฉลี่ย 2 พฤศจิกายน มีจำนวนโครโมโซม 3 ชุดคือ 2n = 80  88 และ 96  พงที่มีจำนวนโครโมโซมเท่ากับ 80 และ 96 พบทั่วไปในประเทศไทย ส่วนพงที่มีจำนวนโครโมโซมเท่ากับ 88 พบค่อนข้างน้อย และอาจเกิดจากการผสมข้ามระหว่างกลุ่มที่มีโครโมโซม 80 และ 96 ในธรรมชาติ ไม่พบความสัมพันธ์ของเชื้อพันธุกรรมโดยวิธี SSRs กับ จำนวนโครโมโซม วันดอกบาน และสถานที่เก็บตัวอย่าง แสดงให้เห็นว่าเชื้อพันธุกรรมของพงมีความหลากหลายเหมาะที่จะนำมาเพิ่มฐานพันธุกรรมของพันธุ์อ้อยรุ่นใหม่ได้ เมื่อผสมข้ามระหว่างอ้อยกับพงพบว่า มีลูกผสมจำนวนมากให้น้ำหนักต่อกอ และค่า Brix สูงกว่าพ่อแม่ แต่มีจำนวนลำต่อกอน้อยกว่าพง และมีขนาดของลำเล็กกว่าอ้อย การผสมกลับกับอ้อยครั้งที่1 พบว่ามีลูกผสมกลับจำนวนมาที่ให้น้ำหนักต่อกอ ค่าบริกซ์ จำนวนลำต่อกอ และขนาดลำ สูงกว่าพันธุ์แม่และพ่อ และในกลุ่มของลูกผสมกลับครั้งที่ 1 มี 4 โคลน คือ BC04-713 BC04-756 BC04-768 และBC04-834 ที่ให้ผลผลิตอ้อย ผลผลิตน้ำตาล และชานอ้อยมากกว่าพันธุ์เปรียบเทียบขอนแก่น 3 ด้านลักษณะทางการเกษตร อ้อยดีเด่นทั้ง 4 โคลน มีจำนวนลำเก็บเกี่ยว และเปอร์เซ็นต์เยื่อใย สูงกว่าพันธุ์ขอนแก่น 3 มากแต่ มีขนาดลำ ค่าซีซีเอส ค่าบริกซ์ ค่าโพล และค่าความบริสุทธิ์ของน้ำอ้อย น้อยกว่าพันธุ์ขอนแก่น 3 ปัจจุบันอ้อยทั้ง 4 โคลนนี้ กำลังประเมินผลผลิตในขั้นการเปรียบเทียบมาตรฐาน


ไฟล์แนบ
.pdf   1864_2554.pdf (ขนาด: 247.74 KB / ดาวน์โหลด: 1,100)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม