การศึกษาชนิด ชีววิทยา และนิเวศวิทยาของแมลงศัตรูในสละ
#1
การศึกษาชนิด ชีววิทยา และนิเวศวิทยาของแมลงศัตรูในสละ
วนาพร วงษ์นิคง, เกรียงไกร จำเริญมา, ศรุต สุทธิอารมณ์, สัญญาณี ศรีคชา, ยุทธนา แสงโชติ และอิทธิพล บรรณาการ
กลุ่มบริหารศัตรูพืช และกลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การศึกษาชนิดของแมลงศัตรูในสละ ดำเนินการโดยสำรวจ รวบรวมตัวอย่างแมลงศัตรูพืชในแปลงปลูกสละ และจากแบบสอบถามพบว่า แมลงศัตรูที่เข้าทำลายต้นสละและต้นสละที่ปลูกใหม่ ได้แก่ ด้วงแรดเล็ก (Oryctes rhinocerous Linnaeus) ด้วงแรดใหญ่ (Oryctes gnu Mohnr.) และด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็ก (Rhynchophorus furrugineus Oliver) แมลงศัตรูที่เข้าทำลายดอกสละ ได้แก่ ด้วงงวงจิ๋ว (Diocalandra frumenti Fabricius) แมลงศัตรูที่เข้าทำลายผลสละ ได้แก่ ด้วงเจาะผลสละ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นแมลงชนิดใหม่ จัดอยู่ในวงศ์ Anthribidae ซึ่งอยู่ระหว่างการจำแนกชนิดหนอนมีลักษณะสีขาวขุ่น กัดกินอยู่ที่บริเวณเนื้อของผลสละ หนอนระยะสุดท้ายเจาะเข้าไปในเมล็ดเพื่อเข้าดักแด้ ดักแด้มีสีขาวครีม ตัวเต็มวัยเป็นด้วงขนาดเล็ก ลำตัวรี มีลำตัวยาวประมาณ 0.7-0.9 มิลลิเมตร ปีกแข็งสีน้ำตาล มีจุดและแถบสีดำกระจายทั่วทั้งปีก ปากเป็นแบบกัดกินรูปร่างแบน ยาวคล้ายจอบยื่นลงไปด้านล่าง ตารวมเป็นรูปรีเห็นได้ชัดเจน ตัวเต็มวัยเพศเมียมีหนวดสั้น เพศผู้มีหนวดยาวกว่าตัวเมีย ระยะหนอนคาดว่ามีอายุประมาณ 1-2 เดือน ระยะดักแด้ อายุประมาณ 5-9 วัน ระยะตัวเต็มวัยอายุประมาณ 5-14 วัน ซึ่งแมลงชนิดนี้จะเข้าทำลายผลสละที่อายุประมาณ 7-9 เดือน หรือเริ่มเก็บเกี่ยว หรืออยู่ในช่วงเปลี่ยนสีจากสีน้ำตาลดำเป็นสีน้ำตาลแดง และเริ่มมีกลิ่นหอม จากการติดตั้งกับดักกาวเหนียวเพื่อดูปริมาณตัวเต็มวัยของด้วงเจาะผลสละ และพฤติกรรมการดึงดูดเข้าหาสีพบว่า ตัวเต็มวัยด้วงเจาะผลสละมีพฤติกรรมเข้าหาสีไม่แตกต่างกัน แต่สีที่พบว่ามีจำนวนตัวเต็มวัยเข้าเป็นจำนวนมากที่สุดได้แก่ สีเขียว รองลงมาได้แก่ สีส้ม


ไฟล์แนบ
.pdf   2052_2554.pdf (ขนาด: 639.43 KB / ดาวน์โหลด: 1,940)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม