การคัดเลือกและทดสอบประสิทธิภาพเชื้อราเขียว Metarhizium anisopliae
#1
การคัดเลือกและทดสอบประสิทธิภาพเชื้อราเขียว Metarhizium anisopliae
เสาวนิตย์ โพธิ์พูนศักดิ์, เกรียงไกร จำเริญมา และสาทิพย์ มาลี
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การคัดเลือกและทดสอบประสิทธิภาพเชื้อราเขียว Metarhizium anisopliae โดยเน้นการควบคุมแมลงศัตรูมะพร้าว ได้แก่ หนอนด้วงแรดมะพร้าว หนอนแมลงดำหนาม และหนอนหัวดำมะพร้าว ได้ทำการวิจัยในช่วงเดือนตุลาคม 2550 - กันยายน 2553 (รวมระยะเวลา 3 ปี) ที่ห้องปฏิบัติการเชื้อราโรคแมลง กลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โดยแบ่งการดำเนินงานในปีต่างๆ ดังนี้

          ปีที่ 1 ทดสอบประสิทธิภาพราเขียวกับหนอนด้วงแรดมะพร้าวได้ทำการเก็บรวบรวมเชื้อราเขียว M. anisopliae จากแหล่งต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีเชื้อราเขียวในห้องปฏิบัติการจำนวนทั้งสิ้น 10 สายพันธุ์ ในจำนวนนี้ 3 สายพันธุ์ เป็นเชื้อที่ได้รับความอนุเคราะห์จากหน่วยงานที่มีการใช้และเผยแพร่สู่ผู้สนใจรวมทั้งเกษตรกร ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรม (M0), กรมส่งเสริมการเกษตรฯ (M2) และศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ (M3) ส่วนอีก 7 สายพันธุ์ เป็นเชื้อที่เก็บในธรรมชาติได้จากแมลงเป็นโรคในพื้นที่ต่างๆ กัน และนำมาแยกเชื้อให้บริสุทธิ์ในห้องปฏิบัติการ การดำเนินงานในครั้งแรกได้ทำการคัดเลือกหาสายพันธุ์ที่มีความเหมาะสมในการนำมาใช้เป็นตัวแทนเปรียบเทียบกับเชื้อราเขียวที่แยกได้จากธรรมชาติ โดยนำเชื้อราเขียว 3 สายพันธุ์คือ M0, M2 และ M3 มาทดสอบกับหนอนด้วงแรดมะพร้าว ผลการทดลองพบว่า ไอโซเลท M2 มีความเหมาะสมในการคัดเลือกเพื่อใช้เป็นเชื้อเปรียบเทียบ โดยทำให้หนอนด้วงแรดมะพร้าวมีอัตราการตายที่แท้จริง 100% ในวันที่ 12 ของการทดลอง ซึ่งใช้ระยะเวลาสั้นกว่าไอโซเลท M0 และ M3 ตามลำดับ (ตารางที่ 2) และเมื่อทดสอบประสิทธิภาพเปรียบเทียบกับเชื้อราเขียวที่แยกได้จากธรรมชาติทั้ง 7 สายพันธุ์ พบว่า M5 มีความน่าสนใจในการใช้ควบคุมหนอนด้วงแรดมะพร้าวมากที่สุด และเมื่อเปรียบเทียบกับ control (M2) ยังพบว่ามีอัตราการเกิดโรคได้เร็วกว่า (ตารางที่ 3)

          ปีที่ 2 ทดสอบประสิทธิภาพเชื้อราเขียวกับหนอนแมลงดำหนาม และหนอนหัวดำมะพร้าวทำการทดสอบประสิทธิภาพเชื้อราเขียวทั้งหมดที่เลี้ยงในห้องปฏิบัติการโดยวิธีจุ่มใบมะพร้าวในสารแขวนลอยโคนิเดียที่เตรียมไว้ โดยปรับกำลังโคนิเดียทุกไอโซเลทที่ 1 X 10(9) โคนิเดีย/มล. เช็คผลทุก 2 วันการทดสอบกับหนอนแมลงดำหนามพบว่า ไอโซเลท M4 มีความน่าสนใจเนื่องจากให้อัตราการเกิดโรคสูงสุด 98.25% ในระยะเวลาที่สั้นที่สุดคือวันที่ 4 ของการทดลอง ส่วนไอโซเลทที่มีความเหมาะสมกับหนอนหัวดำมะพร้าวคือ M8 เนื่องจากให้อัตราการตายของหนอนสูงสุด 76.05% ในวันที่ 2 ของการทดลอง (ตารางที่ 4, ตารางที่ 5) การเกิดโรคของแมลงขึ้นอยู่กับขนาดและผนังลำตัวของเหยื่อโดยพบว่า แมลงที่ขนาดใหญ่หรือมีผนังลำตัวหนาจะเกิดการติดโรคได้ช้ากว่าแมลงที่ขนาดเล็ก หรือมีผนังลำตัวที่บางกว่านอกจากนี้การเกิดโรคยังขึ้นกับประสิทธิภาพและความเฉพาะเจาะจงของเชื้อซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละไอโซเลท


ไฟล์แนบ
.pdf   1629_2553.pdf (ขนาด: 132.96 KB / ดาวน์โหลด: 1,157)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม