ทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชของสารกำจัดวัชพืชประเภทหลังงอกในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
#1
ทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชของสารกำจัดวัชพืชประเภทหลังงอก (post-emergence) ในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
สิริชัย สาธุวิจารณ์, ศิวิไล ลาภบรรจบ, สุพัตรา ชาวกงจักร์, นิมิต วงศ์สุวรรณ และจรรยา มณีโชติ
กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, ผู้เชี่ยวชาญ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาฬสินธุ์ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3

          การทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชของสารกำจัดวัชพืชประเภทหลังงอกในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้ได้วิธีการจัดการวัชพืชประเภทหลังงอกที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดำเนินการทดลองระหว่างเดือนตุลาคม 2553 - กันยายน 2556 ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาฬสินธุ์ และแปลงเกษตรกร อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี วางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 4 ซ้ำ มี 13 กรรมวิธี ได้แก่ การพ่นสารกำจัดวัชพืช paraquat, glufosinate ammonium, fluroxypyr, triclopyr, mesotrione/atrazine, nicosulfuron, pyroxasulfone, paraquat+mesotrione/ atrazine, paraquat+nicosulfuron, paraquat+ pendimethalin และ paraquat+ pyroxasulfone อัตรา 150, 105, 32, 150, 150, 20, 20, 80+150, 80+15, 80+60 และ 80+15 กรัมสารออกฤทธิ์/ไร่ ตามลำดับ หลังปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 45 วัน กรรมวิธีกำจัดวัชพืชด้วยแรงงานและกรรมวิธีไม่กำจัดวัชพืช ปฏิบัติและดูแลรักษาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ผลการทดลองพบว่า สารกำจัดวัชพืช paraquat, glufosinate ammonium, triclopyr, paraquat+ mesotrione/atrazine, paraquat+nicosulfuron, paraquat+ pendimethalin และ paraquat+ pyroxasulfone ไม่เป็นพิษต่อต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ระยะ 30 วัน หลังพ่นสารกำจัดวัชพืช และมีประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชได้ดี โดยวัชพืชที่สามารถควบคุมได้ คือ หญ้าตีนนก (Digitaria sanguinalis (L.). Scop.) หญ้าตีนกา (Eleusine indica Gaertn.) หญ้าปากควาย (Dactyloctenium aegyptium L.) สาบม่วง (Praxelis clematidea R.M. King) กะเพราผี (Hyptis suaveolens L.) กระต่ายจาม (Scoparia dulcis L.) ผักเสี้ยนดอกม่วง (Cleome rutidosperma DC.) กกทราย (Cyperus iria L.) และแห้วหมู (Cyperus rotundus L.)


ไฟล์แนบ
.pdf   15_2556.pdf (ขนาด: 611.13 KB / ดาวน์โหลด: 1,931)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม