เทคโนโลยีการผลิตขยายและการใช้แตนเบียนสกุล Encarsia เพื่อควบคุมแมลงหวี่ขาว
#1
เทคโนโลยีการผลิตขยายและการใช้แตนเบียนสกุล Encarsia เพื่อควบคุมแมลงหวี่ขาว
รจนา ไวยเจริญ, อัมพร วิโนทัย และประภัสสร เชยคำแหง
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          เพื่อได้เทคโนโลยีการผลิตและการใช้แตนเบียน Encarsia sp. ได้ทำการสำรวจและเก็บรวบรวมแมลงหวี่ขาวใยเกลียว (Aleurodicus dispersus Russell) จากแปลงปลูกมันสำปะหลัง จากวัชพืชบริเวณรอบแปลง เช่น หญ้ายาง ตำแยแมว และจากต้นฝรั่ง น้อยหน่า พริก และกล้วย ที่อำเภอเมือง และศรีราชา จังหวัดชลบุรี และอำเภอปากช่อง และอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างตุลาคม 2555 – กันยายน 2556 ผลการทดลอง พบแตนเบียนออกจากตัวอ่อนแมลงหวี่ขาวใยเกลียว จำนวน 2 ชนิด ชนิดสีเหลืองและสีดำ เก็บรวบรวมแตนเบียนดองในแอลกอฮอล์ 75% อยู่ระหว่างรอการจำแนกชนิด ในแปลงมันสำปะหลังพบแมลงหวี่ขาวใยเกลียวมีการระบาดรุนแรงที่บริเวณเนินเขา อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน และเริ่มลดลงในเดือนธันวาคม จนถึงมีนาคม (ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต) พบแมลงหวี่ใยเกลียวได้น้อยในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ส่วนใหญ่อยู่ในต้นมันสำปะหลังต้นใหญ่ที่ยังไม่เก็บเกี่ยว และพืชอาศัยข้างแปลง เช่น ต้นฝรั่ง ต้นพริก และวัชพืช เป็นต้น และเริ่มพบกลับมาวางไข่ในแปลงมันสำปะหลัง เดือนมิถุนายน (อาจเป็นเพราะมีการชุบท่อนพันธุ์มันสำปะหลังตอนปลูก ทำให้ไม่พบแมลงหวี่ขาวบนต้นมันสำปะหลังในระยะต้นเล็ก) และพบการวางไข่และจำนวนประชากรแมลงหวี่ขาวมากขึ้นในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม

          ศึกษาชีววิทยาและนิเวศวิทยาของแมลงหวี่ขาวใยเกลียวและแตนเบียน Encarsia spp. ในห้องปฏิบัติการพบว่า มีเปอร์เซ็นต์เบียน 0 - 57.14% โดยพบมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม แตนเบียนที่ออกมาในช่วงหน้าแล้งเดือน มีนาคมถึงพฤษภาคม พบว่าทั้งหมดเป็นแตนเบียนชนิดสีเหลือง แต่จากมิถุนายนถึงกันยายน พบแตนเบียนทั้งชนิดสีเหลืองและสีดำ โดยมีสัดส่วน ชนิดสีเหลือง : สีดำ เท่ากับ 90.0 : 10.0, 94.44 : 5.56, 73.91 : 26.09 และ 90.32 : 9.68 ตามลำดับ

          ทดสอบพืชอาหารที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงแมลงหวี่ขาวใยเกลียวพบว่า แมลงหวี่ขาวมีแนวโน้มชอบวางไข่บน ต้นคริสมาสต์ ฝรั่ง หญ้ายาง และมันสำปะหลัง ตามลำดับ แต่ต้นฝรั่งเป็นพืชที่เหมาะสมที่สุดในการเพาะเลี้ยงแมลงหวี่ขาวใยเกลียว สามารถเลี้ยงแมลงหวี่ขาวได้ตลอดทั้งปี และจากการศึกษาวงจรชีวิตของแมลงหวี่ขาวใยเกลียวบนต้นฝรั่ง เบื้องต้นพบว่ามีวงจรชีวิต 24 - 32 วัน

          ศึกษาอายุขัยของแตนเบียนพบว่า แตนเบียน (สีดำ) มีอายุขัย 2 - 11 วัน เมื่อเลี้ยงในถุงพลาสติกใส่ใบฝรั่งที่มีตัวอ่อนแมลงหวี่ขาว และมีอายุขัย 1 - 6 วัน เมื่อเลี้ยงในถุงพลาสติกเปล่าจะทำการศึกษาซ้ำและเพิ่มเติมต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   65_2556.pdf (ขนาด: 761.06 KB / ดาวน์โหลด: 1,196)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม