การทดสอบประสิทธิภาพเชื้อราเขียวเมตาไรเซียม เพื่อป้องกันกำจัดด้วงหมัดผัก
#1
การทดสอบประสิทธิภาพเชื้อราเขียวเมตาไรเซียม; Metarhizium anisopliae (Metsch) Sorokin เพื่อป้องกันกำจัดด้วงหมัดผัก; Phyllotreta sinuata (Stephens)
เสาวนิตย์ โพธิ์พูนศักดิ์, อิศเรส เทียนทัด และวิไลวรรณ เวชยันต์
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การทดสอบประสิทธิภาพเชื้อราเขียวเมตาไรเซียม Metarhizium anisopliae (Metsch) Sorokin เพื่อป้องกันกำจัดด้วงหมัดผัก Phyllotreta sinuata (Stephens) ทำการวิจัยในช่วงในเดือนตุลาคม 2554 - กันยายน 2556 ที่ห้องปฏิบัติการกลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2555 ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพราเขียวเมตาไรเซียมจำนวน 10 ไอโซเลท ที่มีอยู่ในห้องปฏิบัติการในการควบคุมด้วงหมัดผัก วางแผนการทดลองแบบ CRD ประกอบด้วย 11 กรรมวิธี 4 ซ้ำ (1 ซ้ำ = ใช้ด้วง 20 ตัว/กล่อง) เตรียมกล่องเลี้ยงแมลงขนาด 7 x 10 ซ.ม. จำนวน 44 กล่อง ใส่ฟองน้ำและต้นอ่อนกวางตุ้งลงในแต่ละกล่อง เตรียมสารแขวนลอยโคนิเดียราเขียวไอโซเลท M0, M1, M2, M3, M4, M5, M6, M7, M8 และ M9 โดยปรับความเข้มข้นโคนิเดียให้เท่ากันทุกไอโซเลทที่ 1 X 10(9) โคนิเดีย/มล. พ่นเชื้อไอโซเลทละ 4 กล่อง (4 ซ้ำ) ส่วนกรรมวิธีควบคุมพ่นด้วยน้ำนึ่งฆ่าเชื้อ ผลการทดสอบพบว่า ราเขียวเมตาไรเซียมไอโซเลท M3, M5, M7, M8, M2, M9, M1, M0 และ M6 มีประสิทธิภาพทำให้ด้วงหมัดผักติดเชื้อราเขียวได้ดีไม่แตกต่างกันในทางสถิติ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เฉลี่ย 100, 100, 100, 97.50, 95, 91.25, 90, 88.75 และ 85% ตามลำดับ ส่วนไอโซเลท M4 ทำให้ด้วงหมัดผักติดเชื้อราเขียวน้อยที่สุดที่ 73.75%

          ต่อมาในปีงบประมาณ 2556 ได้เลือกราเขียวเมตาไรเซียมไอโซเลท M3 เพื่อใช้ขยายผลหาอัตราการใช้ที่เหมาะสมในการควบคุมด้วงหมัดผักในสภาพไร่ โดยทำการทดลองใน 2 พื้นที่คือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี และแปลงเกษตรกรที่ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี วางแผนการทดลองแบบ RCB ประกอบด้วย 5 กรรมวิธี 4 ซ้ำ ผลการดำเนินงานในเบื้องต้นพบว่า การใช้ราเขียวไอโซเลท M3 ยังไม่สามารถควบคุมประชากรด้วงหมัดผักได้ทั้ง 2 พื้นที่ ซึ่งอาจเกิดจากระยะเวลาและเทคนิคการใช้ที่ไม่เหมาะสม ในอนาคตน่าจะได้มีการทดลองซ้ำ ซึ่งอาจจะต้องเพิ่มระยะเวลาและเพิ่มอัตราการใช้ราเขียวเมตาไรเซียมให้มากขึ้น ตลอดจนการเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้เชื้อราชนิดนี้


ไฟล์แนบ
.pdf   74_2556.pdf (ขนาด: 514.79 KB / ดาวน์โหลด: 4,696)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม