การประเมินความเหมาะสมของพันธุ์งาเพื่อปลูกในสภาพนาอินทรีย์
#1
การประเมินความเหมาะสมของพันธุ์งาเพื่อปลูกในสภาพนาอินทรีย์
พรพรรณ สุทธิแย้ม, บุญเหลือ ศรีมุงคุณ, อารีรัตน์ พระเพชร, บุญญา อนุสรณ์รัชดา, ประสงค์ วงศ์ชนะภัย และนาตยา จันทร์ส่อง

          เพื่อประเมินความเหมาะสมของพันธุ์งาในการผลิตแบบอินทรีย์ จึงทำการทดลองขึ้นโดยวางแผนการทดลองแบบ Split plot design 4 ซ้ำ main plot คือระบบการผลิต 2 ระบบได้แก่อินทรีย์และเคมี และ sub plot คือ พันธุ์งา 4 พันธุ์ ได้แก่ 1) งาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 2) งาขาวพันธุ์อุบลราชธานี 2 3) งาแดงพันธุ์อุบลราชธานี 1 และ งาแดงสายพันธุ์ MR 13 ก่อนปลูกปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ 150 กก./ไร่ ทั้งระบบอินทรีย์และเคมีแต่ในระบบอินทรีย์ พ่นน้ำหมักผลไม้ควบคู่กับน้ำหมักสมุนไพร ทุก 7 วัน ตั้งแต่อายุ 10 วันหลังงอก จนถึง 70 วันหลังงอก ส่วนระบบเคมี ใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-8 อัตรา 25 กก./ไร่ และสารฆ่าแมลงตามความจำเป็น ปลูกงาในสภาพนา ในเดือนกุมภาพันธ์ บันทึกข้อมูลผลผลิต องค์ประกอบผลผลิต ความงอก % น้ำมัน คุณสมบัติของดินก่อนปลูก/หลัง เก็บเกี่ยว ดำเนินการที่ศวร.เชียงใหม่ ศวร.อุบลราชธานี ศบป.สุโขทัย และศวส.เพชรบุรี ระหว่างปี 2549 - 2551 (ศวส.เพชรบุรีดำเนินการในปี 2551 ปีเดียว) ผลการทดลองพบว่า งาทั้ง 4 พันธุ์คือ งาดำอุบลราชธานี 3 งาขาว อุบลราชธานี 2 งาแดงอุบลราชธานี 1 และงาแดง สายพันธุ์ MR13 สามารถใช้ปลูกได้ในระบบอินทรีย์โดยให้ผลผลิตไม่ต่างกัน และไม่ต่างจากการผลิตในระบบเคมี ทั้ง 4 สถานที่ โดยผลผลิตเฉลี่ยที่ ศวร.เชียงใหม่ เท่ากับ 76.8 69.2 96.1 และ 80.2 กก./ไร่ ตามลำดับ และงาแดงพันธุ์ อุบลฯ 1 ให้ % น้ำมันสูงกว่าพันธุ์อื่น คือ 45.3% ความงอกของเมล็ดสูงในทุกพันธุ์ 85.8 - 94.3 % แต่งาแดงอุบลฯ 1 ต้องเก็บรักษาไว้ระยะหนึ่ง (ประมาณ 1 เดือน) ความงอกจึงจะสูงเป็นปกติ ที่ศวร.อุบลราชธานี ผลผลิตเฉลี่ย 81.3 79.3 93.7 และ 100.4 กก./ไร่ ตามลำดับและงาดำอุบลฯ 3 ให้ %น้ำมันสูงกว่าพันธุ์อื่น โดยเท่ากับ 34.8% ในระบบอินทรีย์ ความงอกอยู่ในช่วง 95.0 - 98.7% โดยงาแดงอุบลฯ 1 มีการพักตัวหลังเก็บเกี่ยวเช่นกัน ที่ศบป.สุโขทัย ผลผลิต 282.8 216.8 250.8 และ 277.3 กก./ไร่ ตามลำดับ ความงอกของเมล็ดไม่สูงนัก เพราะเก็บเกี่ยวในช่วงที่มีฝนตกโดยอยู่ในช่วง 61.0-79.0% ส่วนที่ ศวส.เพชรบุรี ให้ผลผลิต 92.1 78.2 73.7 และ 71.1 กก./ไร่ ตามลำดับ การผลิตในระบบอินทรีย์ให้ผลต่างของรายได้และต้นทุนที่ต่างกันหรือผลกำไรสุทธิสูงกว่าระบบเคมี


ไฟล์แนบ
.pdf   995_2551.pdf (ขนาด: 928.57 KB / ดาวน์โหลด: 464)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม