วิเคราะห์โครงสร้างการตลาดทุเรียน
#1
วิเคราะห์โครงสร้างการตลาดทุเรียน
วิทย์ นามเรืองศรี, เกษมศักดิ์ ผลากร, จารุพรรณ มนัสสากร และสุภาภรณ์ สาชาติ

          การวิเคราะห์โครงสร้างการตลาดทุเรียน เพื่อวิเคราะห์ผลการศึกษา โอกาส และข้อจำกัดของโครงสร้าง การผลิต และการตลาด มาใช้เป็นข้อสนเทศในการกำหนดแนวทางการผลิต การลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตทุเรียนให้มีปริมาณ และคุณภาพเหมาะสม สำหรับผู้บริโภคทั้งภายใน และต่างประเทศ ใช้เป็นข้อสนเทศในการกำหนดแนวทางเร่งรัด และส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตทุเรียนเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆในระดับครัวเรือน ชุมชน หรือโรงงานผู้ประกอบการ และเพื่อเพิ่มมูลค่าการผลิต และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และผู้ประกอบการ โดยทำการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ (secondary data) จากเอกสารของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลปฐมภูมิ (primary data) จากการสำรวจข้อมูลในพื้นที่แหล่งปลูกของเกษตรกร และสุ่มสัมภาษณ์ตามแบบสอบถามในพื้นที่ของจังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด ปราจีนบุรี และนครศรีธรรมราช ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 ถึงกันยายน พ.ศ. 2551 แล้วสรุปวิเคราะห์เชิงปริมาณ และเชิงพรรณนา พบว่า

          ทุเรียน มีแหล่งปลูกในปี พ.ศ. 2551 บริเวณภาคกลางแถบตะวันออก ร้อยละ 44.54 ภาคใต้ร้อยละ 51.48 ภาคเหนือร้อยละ 3.49 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 0.49 พื้นที่ทั้งหมดมีพื้นที่ปลูกยืนต้น 725,955 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว 667,437 ไร่ มีอัตราพื้นที่ให้ผลผลิตลดลงต่อปีร้อยละ -2.17 ปลูกมากในภาคกลางแถบตะวันออกที่จังหวัดจันทบุรี ภาคใต้จังหวัดชุมพร ภาคเหนือที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดศรีสะเกษ พื้นที่ปลูกทุกภาคมีแนวโน้มลดลง ผลผลิตได้ 637,790 ตัน จากภาคกลาง 381,877 ตัน ภาคใต้ 241,100 ตัน ภาคเหนือ 12,984 ตัน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,829 ตัน มีอัตราผลผลิตลดลงต่อปีร้อยละ -3.04 และอัตราผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ลดลงต่อปีร้อยละ -0.88 เฉลี่ยทั้งประเทศ 956 กิโลกรัมต่อไร่ จังหวัดจันทบุรีผลิตมากที่สุดร้อยละ 38.23 รองลงมาคือ จังหวัดชุมพร ผลิตได้ร้อยละ 15.77 และจังหวัดระยองร้อยละ 14.78 จังหวัดปราจีนบุรี ผลิตได้ผลผลิตต่อไร่สูงสุด 1,593 กิโลกรัมต่อไร่ รองลงมา คือ จังหวัดตราด จันทบุรี และระยอง ผลิตได้ 1,287, 1,272 และ 1,257 กิโลกรัมต่อไร่ การมีระบบชลประทานที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่

          โครงสร้างการตลาดของทุเรียน เป็นส่วนหนึ่งของผลไม้หลายชนิดในช่วงที่มีการให้ผลผลิต ทุเรียนพันธุ์กระดุม พันธุ์ชะนี จะออกก่อนในช่วงกลางเดือนมีนาคม ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง พันธุ์ก้านยาว ออกหลังในช่วงเมษายนถึงพฤษภาคม มีศูนย์กลางตลาดหลักอยู่ในเขตอำเภอเมือง และศูนย์กลางตลาดรองอยู่ในเขตอำเภออื่นๆ มีการซื้อ - ขาย ผ่านพ่อค้าคนกลางมากที่สุดร้อยละ 68.75 รองลงมาเป็นบริษัทร้อยละ 14.58 ในพื้นที่ผลิตเป็นแบบขายส่งเป็นส่วนใหญ่มี 2 เกรด คือ 1.เกรดส่งออก 2.เกรดคละ ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้บริโภคภายในประเทศร้อยละ 34.90 และส่งออกต่างประเทศร้อยละ 32.19 จากที่ผลิตได้ 637,790 ตัน ในปี พ.ศ.2551 โดยส่งออกในรูปแบบทุเรียนผลสด ทุเรียนแช่แข็ง ทุเรียนกวน และทุเรียนอบแห้ง ร้อยละ 91.27 7.33 1.17 และ 0.23 ตามลำดับ ตลาดสำคัญ ได้แก่ ประเทศจีน และเครือข่ายของจีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย สิงคโปร์ อังกฤษ ประเทศคู่แข่งทางการค้า ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย และออสเตรเลีย


ไฟล์แนบ
.pdf   1085_2551.pdf (ขนาด: 1.8 MB / ดาวน์โหลด: 3,041)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม