ขอนแก่น 80 : มะละกอผลเล็กเพื่อกินสุกและส่งออก
#1
ขอนแก่น 80 : มะละกอผลเล็กเพื่อกินสุกและส่งออก
วิไล ปราสาทศรี, อุดม คำชา, เฉลิมชัย ปราสาทศรี, รัชนี ศิริยาน, สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ, ประหยัด ยุพิน  และ Dennis Gonsalves
ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตขอนแก่น สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ขอนแก่น

          มีการพัฒนาพันธุ์มะละกอให้มีความทนทานโรคจุดวงแหวน (Papaya Ringspot Virus, PRSV) และมีลักษณะทางการเกษตรที่ดีมาตั้งแต่ปี 2530 โดยวิธีการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างมะละกอแขกดำกับมะละกอต่างประเทศพันธุ์ Florida Tolerant ที่มีผลเล็ก สุกเนื้อสีเหลือง และมีความทนทานต่อโรค PRSV ได้ลูกผสมหลากหลาย จึงทำการคัดเลือกพันธุ์ซ้ำ (recurrent selection) ถึงปี 2537 คัดได้มะละกอ 3 พันธุ์ หนึ่งในจำนวนนั้น คือ สายพันธุ์ท่าพระ 3 ที่มีลักษณะเด่น คือ ผลเล็ก น้ำหนักผล 1.2 กิโลกรัม เนื้อสีแดง รสชาติหวาน มีศักยภาพที่จะเป็นมะละกอผลเล็กสำหรับกินสุกได้ จึงทำการคัดเลือกต่อโดยวิธี pure line selection จนถึงปี 2546 คัดได้สายพันธุ์ TPL1 และ TPL2 และจากการทดสอบพันธุ์ใน 3 พื้นที่ ในจังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น และศรีสะเกษ ผลการทดลอง พบว่า TPL1 และ TPL2 มีน้ำหนักผลเฉลี่ยเท่ากับ 1.0 กิโลกรัม ผลผลิตเฉลี่ย 6,051.3 กิโลกรัมต่อไร่ ปี 2550 - 2551 ได้ปลูก TPL2 เป็นแปลงขนาดใหญ่ พื้นที่ 2 ไร่ เพื่อศึกษาศักยภาพการปลูกเป็นการค้า ผลการทดลองพบว่า TPL2 มีการเจริญดี ต้นเตี้ย สูง 132 เซนติเมตร เก็บเกี่ยวผลสุกภายใน 6 เดือน ผลผลิต 6,073.3 กิโลกรัมต่อไร่ น้ำหนักกผลเฉลี่ย 0.8 กิโลกรัม ผลจากต้นกระเทยมีรูปทรงสม่ำเสมอแบบ pear-shape ผลยาว 16.3 เซนติเมตร เนื้อหนา 2.6 เซนติเมตร สุกมีสีแดงอมส้ม รสชาติหวาน 13.1 เปอร์เซ็นต์บริกซ์  มีความทนทานต่อโรคจุดวงแหวนดี เกษตรกรจังหวัดกาญจนบุรีได้นำไปทดลองปลูกและส่งไปขายที่ฮ่องกง เพื่อทดสอบการตอบสนองของตลาดต่างประเทศพบว่า เป็นที่ยอมรับของตลาด จึงคาดว่ามะละกอสายพันธุ์ TPL2 จะเป็นมะละกอผลเล็กสายพันธุ์ไทยที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคในประเทศและเพื่อการส่งออกในอนาคต และเพื่อความเหมาะสมในการตั้งชื่อพันธุ์พืชตามระเบียบกรมวิชาการเกษตร ได้ตั้งชื่อมะละกอสายพันธุ์ TPL2 ว่า “ขอนแก่น 80”


ไฟล์แนบ
.pdf   548_2551.pdf (ขนาด: 291.57 KB / ดาวน์โหลด: 661)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม