การควบคุมโรคเหี่ยวแบคทีเรียของมันฝรั่งที่เกิดจากเชื้อ R. solanacearum โดยวิธีผสมผสาน
#1
การควบคุมโรคเหี่ยวแบคทีเรียของมันฝรั่งที่เกิดจากเชื้อ Ralstonia solanacearum โดยวิธีผสมผสาน
วงศ์ บุญสืบสกุล, ณัฏฐิมา โฆษิตเจริญกุล  ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์  บูรณี พั่ววงษ์แพทย์  และวิวัฒน์ ภานุอำไพ
กลุ่มงานบักเตรีวิทยา กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

         ถ่ายเชื้อและเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ DOA-WB-4 และแบคทีเรียสาเหตุโรคเหี่ยวมันฝรั่ง Ralstonia solanacearum จาก stock culture ที่เก็บรักษาไว้ ณ กลุ่มงานบักเตรีวิทยา ติดต่อและเตรียมแปลงทดลองตามแผนการทดลองที่ อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ทั้งสองแห่งวางแผนการทดลองแบบ RCB 4 ซ้ำ 5 กรรมวิธีได้แก่ การใช้เชื้อปฏิปักษ์ควบคุมโรคอย่างเดียว (กรรมวิธีที่ 1) และร่วมกับการปลูกพืชหมุนเวียน (กรรมวิธีที่ 2) การตากดิน (กรรมวิธีที่ 3) และการใช้สารสมุนไพร (กรรมวิธีที่ 4) โดยกรรมวิธีเปรียบเทียบเป็นกรรมวิธีที่ 5 ปลูก 4 แถวต่อหนึ่งกรรมวิธี แถวยาว 4 เมตร ระยะระหว่างแถว 90 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 30 เซนติเมตร ระยะระหว่างกรรมวิธี 2 เมตร ระยะระหว่างซ้ำ 4 เมตร ผลการตรวจประชากรเชื้อสาเหตุโรคเหี่ยวก่อนปลูกพบเชื้อดังกล่าวทุกแปลง ผลการตรวจหัวพันธุ์มันฝรั่งที่ใช้ในการทดลองทั้งหมดไม่พบเชื้อสาเหตุโรคเหี่ยว เตรียมเชื้อปฏิปักษ์ 109 โคโลนีต่อมิลลิลิตร จำนวน 5000 มิลลิลิตร คลุกหัวพันธุ์มันฝรั่งด้วยอัตรา 10 มิลลิลิตรต่อหัวพันธุ์หนึ่งกิโลกรัม แล้วปลูกตามแผนการทดลอง ปลูกเชื้อสาเหตุโรคเหี่ยวในแปลงทดลองเมื่อมันฝรั่งอายุ 10 วัน ราดเชื้อปฏิปักษ์ 3 ครั้ง ในกรรมวิธีที่มีการใช้เชื้อปฏิปักษ์หลังต้นมันฝรั่งงอก 7 วัน แต่ละครั้งห่างกัน 10 วัน เก็บข้อมูลการเกิดโรคในทุกกรรมวิธี ครั้งที่ 1 (20 วัน) และ 2 (40 วัน) พบว่า แปลงทดลองที่จังหวัดตาก การพัฒนาการเป็นโรคไม่ดี กรรมวิธีเปรียบเทียบเป็นโรค 3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กรรมวิธีอื่นๆ เป็นโรค 1 - 3 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเกิดสภาวะฝนแล้งไม่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืชและการพัฒนาการเกิดโรคต้นพืชไม่สมบรูณ์ ผลการทดลองที่จังหวัดเชียงใหม่พบว่า การใช้เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ DOA-WB-4 (Bacilus subtilis) (คลุกหัวพันธุ์มันฝรั่งก่อนปลูก อัตรา 10(9) cfu ต่อมิลลิลิตร ปริมาตร 10 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมหัวพันธุ์ และราดด้วยเชื้อดังกล่าวอัตรา 10(6) cfuต่อมิลลิลิตร ปริมาตร 10 มิลลิลิตรต่อหลุม จำนวน 4 ครั้ง (แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน) เพียงอย่างเดียวให้ผลในการควบคุมโรคได้ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากการใช้วิธีการอื่นร่วมด้วย พบเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคอยู่ระหว่าง 2.8 - 5.1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กรรมวิธีเปรียบเทียบแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญพบเปอร์เซ็นต์การเป็นโรค 58 เปอร์เซ็นต์ ขยายผลการใช้เชื้อ DOA-WB-4 ควบคุมโรคเหี่ยวในแปลงเกษตรกร ระหว่างปี 2549 - 2550 ในพื้นที่ 3 อำเภอ รวม 80 ไร่ ได้แก่ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ 5 ไร่ (เกษตรกร 2 ราย) อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ 25 ไร่ (เกษตรกร 6 ราย) และอำเภอพบพระ จังหวัดตาก พื้นที่ 50 ไร่ (เกษตรกร 10 ราย) พบว่า การใช้เชื้อ DOA-WB-4 สามารถป้องกันการเกิดโรคเหี่ยวได้ผลดีเป็นที่พอใจของเกษตรกร โดยลดการเกิดโรคเหี่ยวได้ 0 - 65 เปอร์เซ็นต์ ปี 2550 - 2551 ขยายผลการใช้เชื้อ DOA-WB-4 ในแปลงเกษตรกร 50 ราย พื้นที่ 300 ไร่ ใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ตาก เชียงราย ลำปาง ลำพูน และพะเยา พบว่าเกษตรกรพอใจผลการใช้เชื้อ DOA-WB-4 สามารถป้องกันการเกิดโรคเหี่ยวของมันฝรั่งได้ผลดีลดการเกิดโรคเหี่ยวได้ 0 - 80 เปอร์เซ็นต์


ไฟล์แนบ
.pdf   660_2551.pdf (ขนาด: 388.23 KB / ดาวน์โหลด: 937)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม