การจัดการดินแบบผสมผสานเพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง
#1
การจัดการดินแบบผสมผสานเพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง
สมลักษณ์ จูฑังคะ และไชยยศ เพชระบูรณิน
ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี

          ศึกษาการจัดการดินโดยใช้วัสดุปรับปรุงบำรุงดินแบบผสมผสาน เพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังให้เพียงพอสำหรับการผลิตเอทานอล ได้ทำการวิจัยในดินทรายร่วน ชุดสัตหีบ จังหวัดระยอง มีค่าความเป็นกรด - ด่างเฉลี่ย 4.8 อินทรียวัตถุ 0.9 เปอร์เซ็นต์ ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 0.04 เปอร์เซ็นต์ และโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ 0.03 เปอร์เซ็นต์ ทำการทดลองระหว่างเดือนตุลาคม 2548 ถึงเดือนมีนาคม 2551 โดยใช้อินทรียวัตถุ (มูลไก่แกลบ) วัสดุเหลือใช้จากโรงงานแป้ง (เปลือกมันสำปะหลัง) วัสดุเหลือใช้จากโรงงานน้ำตาล (กากตะกอนดินอ้อย) พืชตระกูลถั่ว (ถั่วพร้า) และหินฟอสเฟต เป็นวัสดุปรับปรุงบำรุงดินร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-7-18 จำนวน 13 ระบบ วางแผนการทดลองแบบสุ่มบล็อคสมบูรณ์ มี 3 ซ้ำ ใช้มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 7 ซึ่งเป็นพันธุที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรในปี 2548 ใช้ระยะปลูก 100 x 75 เซนติเมตร ผลการทดลองพบว่า ระบบการใช้ปุ๋ยมูลไก่อัตรา 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-7-18 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับการใช้ถั่วพร้าเป็นปุ๋ยพืชสดโดยปลูกแซมมันสำปะหลังและตัดต้นคลุมดินที่ระยะเริ่มออกดอกประมาณ 45 วัน และร่วมกับการใช้หินฟอสเฟต อัตรา 200 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการปรับปรุงบำรุงดินดีที่สุด โดยให้ผลผลิตมันสำปะหลังเฉลี่ยสูงสุด 14.2 ตันต่อไร่ เพิ่มจากไม่มีการปรับปรุงดิน 91 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มจากการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวอัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ 25 เปอร์เซ็นต์ ปรับค่าความเป็นกรด-ด่าง จากค่าเฉลี่ยก่อนการทดลองจาก 4.8 เป็น 6.4 ลดต้นทุนการผลิตจาก 0.71 บาทต่อกิโลกรัมเป็น 0.66 บาทต่อกิโลกรัม ให้ผลตอบแทนกำไรสุทธิ 12,387 บาทต่อไร่ ที่ราคาหัวมันสด 1.50 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวที่อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งให้ผลผลิตหัวสดรองลงมา 12.0 ตันต่อไร่ ไม่สามารถลดต้นทุนการผลิตนอกจากนั้นยังพบว่าทุกระบบที่มีการใช้ปุ๋ยมูลไก่ร่วมในการปรับปรุงบำรุงดิน ให้ผลผลิตมันสำปะหลังสูงกว่าระบบอื่นๆ ระบบที่มีกากตะกอนดินอ้อยร่วมอยู่มีการเปลี่ยนแปลงของความเป็นกรด - ด่าง เห็นได้ชัดเจน ผลจากการวิเคราะห์อัตราส่วนระหว่างธาตุคาร์บอนและไนโตรเจนพบว่า เปลือกมันสำปะหลังที่ใช้ในการทดลองยังมีการย่อยสลายไม่สมบูรณ์ มีผลทำให้มันสำปะหลังแสดงอาการขาดธาตุไนโตรเจนในระยะอายุ 1 - 2 เดือน มีการเจริญเติบโตช้า มีผลต่อผลผลิต สำหรับปริมาณอินทรียวัตถุที่ตกค้างอยู่ในดินหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุกระบบ มีค่าใกล้เคียงกับก่อนการทดลอง ปริมาณธาตุฟอสฟอรัสเพิ่มขึ้น และโพแทสเซียมลดลง และได้ทำการการศึกษาผลตกค้างของธาตุอาหารที่มีอยู่ในดินจากการใส่วัสดุปรับปรุงดินระบบต่างๆ ในปี 2550 โดยปลูกมันสำปะหลังพันธุ์เดิม ไม่มีการเตรียมดินเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2550 ไม่มีการเพิ่มธาตุอาหารใด ๆ ลงไปในดินยกเว้นวิธีการที่ปลูกถั่วพร้าเป็นปุ๋ยพืชสดในระบบพืชแซม ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบการย่อยสลายของอินทรียวัตถุ พบว่า ระบบที่มีเปลือกมันสำปะหลังและกากตะกอนอ้อยให้น้ำหนักต้นสดถั่วพร้าต่ำกว่าระบบที่มีปุ๋ยเคมีและปุ๋ยมูลไก่ ระบบที่ไม่มีการปรับปรุงดินให้ผลผลิตหัวสดเก็บเกี่ยวที่อายุ 6 และ 11 เดือนสูงสุด เนื่องจากมีธาตุอาหารตกค้างมากกว่า สำหรับระบบปุ๋ยเคมีอย่างเดียว ระบบที่มีเปลือกมันสำปะหลังระบบที่มีกากตะกอนดินอ้อย ระบบที่มีถั่วพร้าเป็นปุ๋ยพืชสด และระบบที่มีมูลไก่ ให้ผลผลิตหัวสดไม่แตกต่างกัน แสดงว่าธาตุอาหารที่ใส่ลงไปในดินในปีแรกโดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน และโพแทสเซียมมันสำปะหลังได้ดูดนำไปใช้ในการเจริญเติบโตและสร้างผลผลิตในปีแรกเกือบทั้งหมดโดยเฉพาะระบบที่ให้ผลผลิตสูงๆ หรืออาจถูกชะล้างไปจากบริเวณรากพืชโดยเฉพาะธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียม  เนื่องจากก่อนปลูกมีฝนตกหนักติดต่อกัน ถ้าต้องการให้ได้ผลผลิตสูงเท่ากับปีแรก จะต้องใส่ธาตุอาหารลงไปในดินเท่ากับปริมาณธาตุอาหารที่ตกค้างในดินหักออกจากปริมาณธาตุอาหารที่มันสำปะหลังต้องการในการให้ผลผลิตที่กำหนดไว้ การวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินและวัสดุปรับปรุงบำรุงดินก่อนการใช้ปุ๋ย จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้จากการใช้ปุ๋ยในปริมาณที่ลดลง และเพียงพอต่อความต้องการในการเจริญเติบโตไม่มากหรือน้อยจนเกินไป


ไฟล์แนบ
.pdf   551_2551.pdf (ขนาด: 350.28 KB / ดาวน์โหลด: 1,312)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม