การสร้างต้นแบบระบบเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภาคใต้ตอนล่าง
#1
การสร้างต้นแบบระบบเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภาคใต้ตอนล่าง
สำราญ  สะรุโณ, ไพโรจน์ สุวรรณจินดา, นลินี จาริกภากร, ปัทมา พรหมสังคหะ, ไพเราะ เทพทอง, มานิตย์ แสงทอง, อาอีฉ๊ะ ละใบจิ, สมใจ จีนชาวนา, เกียรติศักดิ์ ขุนไกร, ชอ้อน พรหมสังคหะ, บุญรัตน์ เหมือนยอด, เสาวภาคย์ รัตนสุภา, อริยธัช เสนเกตุ, อุไรวรรณ สุกด้วง และสาริณีย์ จันทรัศมี
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 และนักวิจัยอิสระ

          ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานให้ปวงชนชาวไทยเป็นหลักการกว้างๆ ที่ทุกอาชีพสามารถนำมาประยุกต์หาวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมกับตนเองได้ การวิจัยจึงได้คิดค้นพัฒนาหาหลักการปฏิบัติที่เหมาะสมกับอาชีพการปลูกพืชของเกษตรกร โดยทดลองหาวิธีการปฏิบัติในการสร้างเป็นครัวเรือนเกษตรกรต้นแบบที่สามารถดำรงชีพอย่างพอเพียงด้วยการพึ่งพาการผลิตพืช การวิจัยจำเป็นต้องอาศัยวิธีวิจัยเชิงบูรณาการแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งพืชและการดำรงชีพอย่างเป็นระบบประกอบด้วยการวิจัยเชิงทดลองด้านเกษตร การวิจัยทางสังคม การจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการเคลื่อนไหวทางสังคม ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ระหว่างปี 2551 - 2554  ผลการวิจัยได้ค้นพบเทคนิคการพัฒนาและสรุปเป็นนวัตกรรมของกรมวิชาการเกษตรในการประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการปลูกพืช คือ “4 เสาหลักสู่ความพอเพียง” ประกอบด้วย “หัวใจพอเพียง” คือ การพัฒนาความเป็นผู้นำและการเป็นต้นแบบ “9 พืชผสมผสานพอเพียง” คือ การปลูกพืช 9 กลุ่มพืชให้เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ ได้แก่ กลุ่มพืชรายได้ พืชอาหาร พืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพ พืชสมุนไพรกำจัดศัตรูพืช พืชอาหารสัตว์ ไม้ใช้สอย พืชอนุรักษ์ดินและน้ำ พืชอนุรักษ์พันธุ์กรรมท้องถิ่น และพืชพลังงาน  “ภูมิปัญญาภิวัตน์พอเพียง”  คือการพัฒนาเทคโนโลยีที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยการทดลองด้วยตนเอง และ “ดำรงชีพพอเพียง” คือความตั้งใจที่ใช้ชีวิตตามหลักความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน รอบรู้ และคุณธรรม  ผลของการพัฒนาตามแนวทางดังกล่าวได้ทำให้ครัวเรือนเกษตรกรต้นแบบ 11 รายในเขตระบบการปลูกพืชต่างๆ มีคะแนนระดับความพอเพียงในการดำรงชีพเพิ่มขึ้นจากปานกลางเป็นระดับมาก มีพืชพอเพียงในการใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจาก 22 ชนิด เป็น 58 ชนิด หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 168 มีเทคโนโลยีที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับวิชาการสมัยใหม่จากการทดลองด้วยตนเอง เช่น การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูมะระด้วยกับดักกาวเหนียว การป้องกันกำจัดศัตรูถั่วฝักยาวด้วยสารสกัดจากพืช การใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ในการปลูกข้าว มันเทศ แตงกวา แตงโม ข้าวโพดหวาน ยางพารา การปลูกพืชต่างระดับ 4 ชั้น ในสวนยางพารา และบริเวณบ้าน ทำให้เกษตรกรได้พัฒนาความสามารถให้เป็นผู้นำสามารถเป็นต้นแบบในการเผยแพร่วิธีการสู่กลุ่มเกษตรกร และชุมชน และแนวทาง “4 เสาหลักสู่ความพอเพียง” ได้เผยแพร่ถ่ายทอดไปสู่สาธารณะ ประชาชนทั่วไปได้อบรมศึกษาดูงาน สถาบันการศึกษานำเยาวชนมาเข้าค่ายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และที่สำคัญก็คือการวิจัยได้ส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์


ไฟล์แนบ
.pdf   1887_2554.pdf (ขนาด: 192.71 KB / ดาวน์โหลด: 945)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม