สภาพการผลิตและการตลาดสับปะรดของเกษตรกรภาคใต้ตอนบน
#1
สภาพการผลิตและการตลาดสับปะรดของเกษตรกรภาคใต้ตอนบน
อุไรวรรณ นาสพัฒน์, พุฒนา รุ่งระวี, ชลธิชา เตโช, ไกรศร ตาวงศ์ และสมพร วนะสิทธิ์

          ในปี 2551 ศึกษาสภาพการผลิตและการตลาดสับปะรดของเกษตรกรในเขตภาคใต้ตอนบน 2 จังหวัดคือ จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ สุ่มตัวอย่างเกษตรกรโดยใช้วิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยคัดเลือกเกษตรกรที่ให้ความร่วมมือดีในการให้ข้อมูล และมีช่วงการเก็บผลผลิตสับปะรดระหว่างปี 2550 - 2551 ได้จำนวนเกษตรกรทั้งหมด 235 ราย เป็นเกษตรกรที่จังหวัดเพชรบุรี 106 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 129 ราย และในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรที่ปลูกสับปะรดปลูก 137 ราย สับปะรดตอ 1 61 ราย สับปะรดตอ 2 37 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์เกษตรกรระหว่างเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2551 โดยเกษตรกรแต่ละรายเก็บข้อมูล 1 แปลงๆละ 1 รุ่น 

          ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้ แหล่งความรู้ในการปลูกสับปะรด โดยส่วนใหญ่ได้รับจากเพื่อนบ้านหรือญาติมากที่สุดมีร้อยละ 91 รองลงมาคือได้รับจากเกษตรอำเภอ/เกษตรตำบล มีร้อยละ 37 จากการอบรมได้แก่กรมวิชาการเกษตร เกษตรอำเภอ ฯลฯ มีร้อยละ 16 พื้นที่ปลูกโดยเฉลี่ยมี 8.15 ไร่ต่อครัวเรือน และส่วนใหญ่เป็นที่ดินของตนเอง มีร้อยละ 61 ที่เช่ามีร้อยละ 31 สำหรับราคาเช่าที่ดินอยู่ระหว่างไร่ละ 200-600 บาท/ปีพื้นที่ 1 ไร่ปลูกสับปะรดได้เฉลี่ย 6,079 ต้น สำหรับการเตรียมดินมีการไถ 1 – 6 ครั้ง และพันธุ์ที่ใช้ปลูกคือปัตตาเวีย เหตุผลที่เลือกปลูก 2 อันดับแรกคือ ตรงตามความต้องการของโรงงาน มีร้อยละ 80 รองลงมาคือ เหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศมีร้อยละ 15 สำหรับแหล่งที่มาของพันธุ์นั้นส่วนใหญ่เกษตรกรเก็บจากแปลงของตนเอง การเตรียมหน่อพันธุ์เกษตรกรร้อยละ 48 ชุบหรือฉีดพ่นหน่อพันธุ์ด้วยสารเคมีเพื่อป้องกันเชื้อราก่อนปลูก และโดยส่วนใหญ่ปลูกด้วยหน่อมีร้อยละ 98 ลักษณะแถวปลูกจะปลูกเป็นแถวคู่ ด้านการดูแลรักษามีกิจกรรมต่างๆ ที่ทำคือ ใส่ปุ๋ยบังคับดอก แคะจุก คลุมผล สำหรับการใส่ปุ๋ย โดยเฉลี่ยใส่ 3 ครั้งเมื่อสับปะรดมีอายุ 2 เดือน 5 เดือน และ 7 เดือน ตามลำดับ ใส่ทางใบและทางกาบใบร่วมกับการฉีดพ่นปุ๋ยหรือฮอร์โมนพืชทางใบ การบังคับดอกช่วงอายุเฉลี่ย 8 เดือน มีการบังคับดอกทุกครัวเรือน เพราะต้องการให้สับปะรดออกดอกสม่ำเสมอและออกดอกพร้อมกัน โดยบังคับดอกเฉลี่ย 3 ครั้งในแต่ละครั้งห่างกัน 1 - 10 วัน สำหรับวิธีการบังคับดอกเกษตรกรใช้ถ่านแก๊สแคลเซียมคาร์ไบด์หยอดหรือใช้สารเคมีฉีดพ่น การแคะจุกหรือหักจุก เกษตรกรมีการแคะจุกร้อยละ 87 เหตุผลที่แคะจุก คือทำให้ขนาดสับปะรดโตขึ้นมีร้อยละ 95 โดยส่วนใหญ่จะแคะจุกหลังบังคับดอกเฉลี่ย 3 เดือน มีการคลุมผลสับปะรดเพื่อป้องกันแดดเผาร้อยละ 81 วัสดุที่ใช้คลุมส่วนใหญ่ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ทำเป็นถุงครอบ มีร้อยละ 79 รองลงมาคือ ใช้หญ้ามีร้อยละ 21 สำหรับศัตรูสับปะรดที่พบคือวัชพืช โรค-แมลง เกษตรกรมีการกำจัดวัชพืชโดยเฉลี่ย 2 ครั้งโดยใช้สารเคมีเมื่อสับปะรดมีอายุเฉลี่ย 3 เดือนและ 6 เดือน ตามลำดับ มีการกำจัดโรคร้อยละ 24 โดยใช้สารเคมี โรคที่พบมากคือ โคนเน่าหรือหน่อเน่า มีร้อยละ 32 รองลงมาคือ ยอดเน่าหรือต้นเน่า มีร้อยละ 29 และโรคเหี่ยวมีร้อยละ 18 มีการกำจัดแมลงร้อยละ 5 ด้านผลผลิตและต้นทุนการผลิต สำหรับสับปะรดปลูกได้ผลผลิตเฉลี่ย 4.71 ตัน/ไร่ ต้นทุนการผลิต 3,663 บาท/ตัน คิดเป็นค่าวัสดุร้อยละ 39 ค่าแรงงานทำกิจกรรมต่างๆ ร้อยละ 44 และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ร้อยละ 17 รายได้จากการผลิต 4,632 บาท/ตัน และได้กำไรตันละ 969 บาท สับปะรดตอ 1 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 2.88 ตัน/ไร่ ต้นทุนการผลิต 2,840 บาท/ตัน คิดเป็นค่าวัสดุร้อยละ 42 ค่าแรงงานทำกิจกรรมต่างๆ ร้อยละ 34 และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ร้อยละ 24 รายได้จากการผลิต 4,562 บาท/ตัน และได้กำไรตันละ 1,722 บาท สับปะรดตอ 2 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 3.40 ตัน/ไร่ ต้นทุนการผลิต 2,133 บาท/ตัน คิดเป็นค่าวัสดุร้อยละ 40 ค่าแรงงานทำกิจกรรมต่างๆ ร้อยละ 32 และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ร้อยละ 28 รายได้จากการผลิต 4,506 บาท/ตัน และได้กำไรตันละ 2,372บาท ด้านการตลาดโดยส่วนใหญ่เกษตรกรขายสับปะรดให้กับโรงงานโดยตรงและขายที่จุดรับซื้อในหมู่บ้านซึ่งเกษตรกรเรียกว่าแผงมีร้อยละ 49 เท่ากัน และจำหน่ายให้กับแม่ค้าหรือบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นการจำหน่ายเพื่อนำไปบริโภคผลสด มีร้อยละ 7 โดยราคาที่จำหน่าย แบ่งเป็น 3 เกรด คือ ลูกใหญ่ ลูกเล็ก และลูกจิ๋ว จำหน่ายได้ราคาเฉลี่ย 4.84, 1.69, และ 0.85 บาท/กิโลกรัมตามลำดับ ปัญหาในการปลูกสับปะรดของเกษตรกร ที่พบมีร้อยละ 61 โดยปัญหาที่พบมากที่สุดคือปัญหาเกี่ยวกับราคาผลผลิต คือสับปะรดราคาถูก มีร้อยละ 55 รองลงมาคือ สับปะรดเป็นโรค เช่น โคนเน่า/ต้นเน่า มีร้อยละ 15 โรคใบเหี่ยวมีร้อยละ 14 แรงงานที่ใช้ปลูกสับปะรดหายาก มีร้อยละ 24 ปุ๋ยเคมีและสารเคมีมีราคาแพง มีร้อยละ 18 สัตว์ศัตรูพืชรบกวน เช่น หนู หอยทาก มีร้อยละ 5 แมลงรบกวนมีร้อยละ 3


ไฟล์แนบ
.pdf   1094_2551.pdf (ขนาด: 1.67 MB / ดาวน์โหลด: 1,321)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม