หนอนด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นที่สำคัญในทุเรียนและการป้องกันกำจัด
#1
หนอนด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นที่สำคัญในทุเรียนและการป้องกันกำจัด
เกรียงไกร จำเริญมา
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การสำรวจด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นในทุเรียน ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี จันทบุรี ระยอง ตราด ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ระหว่างตุลาคม 2547 - มิถุนายน 2549 พบการระบาดของด้วงหนวดยาวในทุเรียนทุกแหล่งปลูก ส่วนใหญ่เป็นด้วงบ่าหนามจุดนูนดำ (Batocera rufomaculata De Geer) ซึ่งตัวเต็มวัยเป็นด้วงหนวดยาวขนาดลำตัว 4 - 6 เซนติเมตร สีน้ำตาล เพศผู้มีหนวดยาวกว่าลำตัว เพศเมียหนวดเท่ากับหรือสั้นกว่าลำตัว ด้วงหนวดยาวชนิดนี้จับคู่ผสมพันธุ์และวางไข่ในเวลากลางคืน มีพฤติกรรมชอบวางไข่ซ้ำบนต้นเดิม ไข่มีลักษณะยาวรีคล้ายเมล็ดข้าวสารสีขาวขุ่น ขนาด 2 x 6 มิลลิเมตร ระยะไข่ 7 - 14 วัน หนอนที่ฟักใหม่สีขาวครีม เริ่มกัดกินไชชอนใต้เปลือกไม้ และถ่ายมูลออกมาเป็นขุยไม้ติดอยู่ภายนอกเป็นระยะๆ ตามเส้นทางที่หนอนไชชอนอยู่ใต้เปลือกไม้ หนอนโตเต็มที่มีขนาดยาว 8 - 10 เซนติเมตร ระยะหนอน 280 วัน จากนั้นจะเริ่มเจาะเข้าเนื้อไม้แข็ง หดตัวและเข้าดักแด้ ซึ่งมีรูปร่างแบบ exerate จากระยะเริ่มหดตัวจนออกเป็นตัวเต็มวัยใช้เวลา 24 - 29 วัน และพักอยู่ในโพรงดักแด้ 7 - 8 วัน จึงเจาะออกสู่ภายนอก ในสภาพห้องปฏิบัติการตัวเต็มวัยมีระยะ 82 วัน สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพสารป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวในระยะหนอนพบ imidacloprid (Confidor 100SL 10%SL) acetamiprid (Molan 20%SP) และ thiametoxam (Actara 25% WG) อัตรา 30 มิลลิลิตร 30 และ 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ ให้ผลดีในการป้องกันกำจัด ส่วนการทดสอบประสิทธิภาพสารป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวในระยะไข่ พบ สารที่ให้ผลดีที่สุด คือ dinotefuran (Starkle 10%WP) อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดไข่ด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นในทุเรียนได้เพียง 64.95 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ไส้เดือนฝอย Steinernema carpocapsae, S. glaseri และ S. riobrave อัตรา 500 - 2,000 ตัวต่อมิลลิลิตร (10 ซองต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ 40 ล้านตัวต่อน้ำ 20 ลิตร) ทำให้หนอนด้วงหนวดยาวตายเพียง 8.33 - 28.68 เปอร์เซ็นต์ จากการทดสอบในสภาพสวน ซึ่งต้นทุเรียนถูกทำลายรุนแรงจนเกษตรกรทิ้งสวน โดยพ่นด้วย imidacloprid (Confidor 100SL 10%SL) อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ชุ่มเฉพาะบริเวณต้นและกิ่งขนาดใหญ่ จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 2 สัปดาห์ คิดเป็นค่าสารฆ่าแมลง 33 บาทต่อต้น พร้อมติดตามและเฝ้าระวังการระบาดเป็นระยะๆ พบว่า ต้นทุเรียนสามารถฟื้นคืนสภาพดีจนเป็นที่พอใจของเกษตรกร


ไฟล์แนบ
.pdf   657_2551.pdf (ขนาด: 1.3 MB / ดาวน์โหลด: 1,097)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม