ศึกษาวิธีการผลิตขิงเพื่อลดการใช้สารเคมีและผลผลิตปลอดจากสารพิษตกค้างและศัตรูพืช
#1
ศึกษาวิธีการผลิตขิงเพื่อลดการใช้สารเคมีและผลผลิตปลอดจากสารพิษตกค้างและศัตรูพืช : การบริหารจัดการวัชพืช 2550
เสริมศิริ คงแสงดาว, จิตอาภา ชมเชย, กัมพล เมืองโคมพัส และลัดดาวัลย์ อินทรสังข์

          การบริหารจัดการวัชพืชในขิง: ปี 2550 ดำเนินการที่แปลงทดลองของศูนย์วิจัยพืชสวนเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ทุกการทดลองวางแผนการทดลองแบบ RCB ขนาดแปลงทดลองย่อย 3 X 5 เมตร ดำเนินการระหว่างเดือนเมษายน 2550 ถึงเดือนมกราคม 2551 เพื่อหาวิธีจัดการวัชพืชแบบต่างๆ กัน ผลการทดลองพบว่า 1) การใช้สารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนวัชพืชงอกในขิง เพื่อป้องกันการงอกของวัชพืชตั้งแต่เริ่มปลูกขิง พ่นที่ 1 วันหลังปลูกปริมาณวัชพืชแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ diuron, oxyfluorfen, oxadiazon และ metribuzin ควบคุมวัชพืชได้ดี ไม่แตกต่างกัน การกำจัดวัชพืชที่ 20 และ 40 วันหลังปลูก ได้ผลผลิตขิงสูงสุด รองลงมาตามลำดับคือ สารกำจัดวัชพืช diuron, s-metolachlor, metribuzin, pendimethalin, trifluralin, alachlor, dimethenamid ได้ผลผลิตขิงไม่ต่างกัน 2) การใช้วัสดุคลุมดินในแปลงปลูกขิง ที่ 35 วันหลังปลูกโดยกำจัดวัชก่อนคลุมดิน ไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตของขิง พลาสติกเทา-ดำ และ แผ่นชีวมวลป้องกันวัชพืชได้ดีที่สุด ส่วนวัสดุธรรมชาติ พบว่าขี้เลื่อยไม้กระถินเทพาดีที่สุด รองลงมาคือ หญ้าคา เศษหญ้า หญ้าขจรจบ และแกลบ ได้ผลผลิตขิงไม่แตกต่างกัน มีแนวโน้มว่าการหว่านถั่วเขียวแล้วถอนออกที่ 35 วันหลังปลูกโดยไม่คลุมดินได้ผลผลิตขิงสูงสุด 3) การควบคุมวัชพืชในระยะแรกก่อนขิงงอกพ้นผิวดิน เพื่อป้องกันไม่ให้วัชพืชเบียดเบียนการเจริญเติบโตของขิงตั้งแต่ระยะแรกของการเจริญเติบโต โดยใช้สารกำจัดวัชพืชประเภทไม่เลือกทำลาย 3 ชนิด paraquat, glyphosate และ glufosinate การพ่นที่ 20 วันหลังปลูก ควบคุมวัชพืชที่งอกจากเมล็ดได้ดี ส่วนวัชพืชข้ามปีโดยเฉพาะ หญ้าขนซึ่งมีขนาดเหง้าใหญ่มาก การพ่นสารกำจัดวัชพืช glyphosate และ glufosinate-ammonium ให้ผลการควบคุมได้ดีกว่าparaquat และหลังจากต้นหญ้าขน ตายไปแล้วยังมีหน่องอกใหม่ปกติ การใช้แผ่นชีวมวลคลุมดินมีวัชพืชน้อยที่สุด พบวัชพืชขึ้นเฉพาะในหลุมขิง บริเวณที่มีดินทับแผ่นชีวมวลเซลลูโลสจะถูกย่อยสลายทำให้มีวัชพืชงอกขึ้นมาภายหลัง ส่วนการใช้ถั่วเขียวปลูกแซมต้นขิงช่วยให้วัชพืชขึ้นน้อยกว่าการไม่ปลูกแซม ผลผลิตขิงไม่แตกต่างกัน มีแนวโน้มว่าแผ่นชีวมวลคลุมแปลงได้ผลผลิตขิงสูงสุด


ไฟล์แนบ
.pdf   1048_2551.pdf (ขนาด: 1.87 MB / ดาวน์โหลด: 1,916)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม