ฤดูกาลระบาดของไรแมงมุมเทียมกล้วยไม้ T. pacificus และวิธีการป้องกันกำจัดที่เหมาะสม
#1
ฤดูกาลระบาดของไรแมงมุมเทียมกล้วยไม้ Tenuipalpus pacificus และวิธีการป้องกันกำจัดที่เหมาะสม
มานิตา คงชื่นสิน, พิเชฐ เชาวน์วัฒนวงศ์, พลอยชมพู กรวิภาสเรือง และวิมลวรรณ โชติวงศ์
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ไรที่เป็นศัตรูของกล้วยไม้มีหลายชนิด ชนิดที่สำคัญที่สุด คือ ไรแมงมุมเทียมกล้วยไม้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tenuipalpus pacificus อยู่ในวงศ์ Tenuipalpidae อันดับย่อย Actinedida ลำตัวมีสีแดงสดลักษณะตัวแบน ความยาวของลำตัวเพศเมียเฉลี่ย 342.7 ไมครอน กว้างเฉลี่ย 198.2 ไมครอน ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของไรจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ดอก ลำต้น และส่วนต่าง ๆ ของกล้วยไม้ การทำลายเกิดขึ้นได้กับทุกระยะการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ นับตั้งแต่กล้วยไม้ยังมีขนาดเล็กเป็นต้นกล้าอยู่ในกระถางหมู่ ไปจนถึงระยะออกดอกและติดฝัก ที่ใบไรมักดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่บริเวณใต้ใบ ในระยะแรกผิวใบบริเวณที่ถูกทำลายจะมีลักษณะเป็นจุดด่างขาวเล็กๆ และมีคราบสีขาวของไรกระจายอยู่ทั่วไป คล้ายมีฝุ่นจับอยู่ที่ใบ และเห็นตัวไรเกาะอยู่บนผิวใบเป็นจุดสีแดงเล็กๆ ขนาดเท่าปลายเข็มหมุดอยู่เป็นกลุ่ม ๆ หรือติดกันเป็นปื้น บางครั้งหากมีการระบาดรุนแรง อาการอาจลุกลามเรื่อยมาจนถึงกาบใบ ลำต้น และราก ผิวใบบริเวณที่ถูกทำลายจะยุบลงและค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ใบแห้งและร่วงในเวลาต่อมา ในกรณีที่การทำลายเกิดขึ้นกับกล้ากล้วยไม้ต้นเล็กๆ ที่ปลูกรวมอยู่ในกระถางหมู่ อาจมีผลทำให้ต้นกล้าชะงักการเจริญเติบโต หรือแห้งตายทั้งกระถาง นอกจากทำลายใบกล้วยไม้แล้ว พบไรแมงมุมเทียมกล้วยไม้ดูดทำลายอยู่ที่หลังกลีบดอกด้วย ทำให้ดอกกล้วยไม้มีตำหนิไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ลักษณะการทำลายเกิดเป็นจุดสีม่วงเข้ม เรียกกันว่า “หลังลาย” ไรจะเข้าทำลายตั้งแต่ระยะดอกยังตูมอยู่ เมื่อดอกบานแผลจากการดูดทำลายจึงมักปรากฏอยู่บริเวณกลีบล่าง ๆ เรื่อยลงไปจนถึงโคนกลีบ และก้านดอก มักพบการทำลายบนดอกกล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium spp.) อีกลักษณะเป็นจุดนูนและบุ๋มขนาดเล็กเท่าปลายเข็มหมุด มีสีขาวซีด และน้ำตาลที่หลังกลีบดอกเรียกกันว่า “หลังขี้กลาก” สีของกลีบดอกจะด่าง กลีบดอกมีขนาดเล็กลง และบิดเบี้ยว ส่วนดอกตูมขนาดเล็กที่ถูกไรดูดกินจะฝ่อแห้งเป็นสีน้ำตาล และหลุดร่วงจากก้านช่อดอก (วัฒนาและคณะ, 2544)

          สำหรับกล้วยไม้ส่งออก ไรศัตรูกล้วยไม้เป็นปัญหาที่ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ต้องใส่ใจในการป้องกันกำจัด ซึ่งถ้าพบว่ามีไรแมงมุมเทียมกล้วยไม้ติดปะปนบนกลีบดอก ใบ หรือลำต้น อาจถูกทำลายทิ้งที่ประเทศปลายทาง อย่างไรก็ตาม การระบาดของไรแมงมุมเทียมกล้วยไม้เกิดขึ้นรุนแรงในบางสวน และบางฤดูกาลเท่านั้น ซึ่งสมมุติฐานเบื้องต้น คาดว่ามีปัจจัยบางอย่างที่ส่งเสริมการระบาดของไร เช่น สภาพอุณหภูมิ ความชื้น ศัตรูธรรมชาติ ลักษณะโครงสร้างโรงเรือน และความสะอาดของโรงเรือน ซึ่งถ้าสามารถทราบถึงปัจจัยเหล่านั้น จะเป็นการช่วยลดปัญหาการระบาดของไรแมงมุมกล้วยไม้ได้ โดยเกษตรกรอาจไม่จำเป็นต้องใช้สารฆ่าไรในการป้องกันกำจัดไรชนิดนี้

          อย่างไรก็ตาม สารเคมียังเป็นสิ่งที่จำเป็นในการใช้ป้องกันกำจัดไรในกรณีที่มีการระบาดรุนแรง แต่เนื่องจากสารฆ่าไรที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำเป็นสารฯ ที่มีการทดสอบมาตั้งแต่ปี 2526 (กุลฉวี, 2526) ปัจจุบันพบว่าบางชนิดใช้ไม่ได้ผล จึงจำเป็นต้องทำการทดสอบหาสารฆ่าไรและสารสกัดจากพืชชนิดใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันกำจัดไรแมงมุมเทียมกล้วยไม้ รวมทั้งวิธีการใช้ที่เหมาะสม ที่สามารถควบคุมไรแมงมุมเทียมกล้วยไม้ได้ มีการต้านทานช้า ดังนั้นการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของไรแมงมุมเทียมกล้วยไม้ โดยวิเคราะห์หาสาเหตุสำคัญที่ช่วยลดระบาดของไรในสวนกล้วยไม้ในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งการป้องกันกำจัดที่เหมาะสม จะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ได้ผลผลิตส่งออกที่ปราศจากไรแมงมุมกล้วยไม้ เป็นผลผลิตที่มีมูลค่าเพิ่ม


ไฟล์แนบ
.pdf   1328_2552.pdf (ขนาด: 138.18 KB / ดาวน์โหลด: 580)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม