ประสิทธิภาพของสารควบคุมไส้เดือนฝอยเพื่อป้องกันกำจัดโรครากปมในพริก
#1
ประสิทธิภาพของสารควบคุมไส้เดือนฝอยเพื่อป้องกันกำจัดโรครากปมในพริก
มนตรี เอี่ยมวิมังสา, ไตรเดช ข่ายทอง, ฐิติยา สารพัฒน์ และพเยาว์ พรหมพันธุ์ใจ
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และศวร.อุบลราชธานี สวพ. 4

          ทำการศึกษาในพื้นที่ปลูกพริกเดิมของเกษตรกรที่มีประวัติการระบาดของไส้เดือนฝอยรากปม Meloidogyne incognita ตำบลโพนแพง อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ตรวจดินพบว่า มีปริมาณตัวอ่อนระยะที่สองของไส้เดือนฝอยรากปมจำนวน 368 ตัว/ดิน 500 กรัม วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 13 กรรมวิธี 3 ซ้ำ แบ่งเป็นแปลงทดลองขนาด 2 X 3 ตารางเมตร จำนวน 39 แปลง ปลูกพริกเมื่ออายุกล้าได้ 1 เดือน โดยใช้กล้าพริกพันธุ์หัวเรือ จากศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี แล้วราดสารเคมีผสมน้ำต้นละ 1 ลิตร เมื่อพริกแก่ผลเริ่มมีสีแดง เก็บรวมน้ำหนักผลผลิตพริกไปจนต้นเริ่มวายจึงขุดเก็บรากพริกวิเคราะห์ดัชนีโรครากปม วิเคราะห์ผลผลิตของพริกพบว่า การใช้สารอะบาเมกตินอัตรา 2 มิลลิลิตร/น้ำ 1 ลิตร/ต้น ทำให้พริกเกิดโรครากปมน้อยลงมีคะแนนโรครากปมอยู่ที่ 0.50 ให้ผลผลิตพริกสูงสุด 0.79 กิโลกรัม/ต้น รองลงมาคือ การใช้สารเดิมในอัตราปกติคือ 1 มิลลิลิตร/น้ำ 1 ลิตร/ต้น เกิดปมที่ระดับ 0.71 ได้ผลผลิตพริก 0.76 กิโลกรัม/ต้น ซึ่งใกล้เคียงกับการใช้โปรฟีโนฟอสอัตรา 2 มิลลิลิตร/น้ำ 1 ลิตร/ต้น เกิดปมที่ระดับ 1.90 ได้ผลผลิต 0.75 กิโลกรัม/ต้น เปรียบเทียบกับแปลงไม่ใช้สารเคมีซึ่งเกิดปมระดับ 3.08 ให้ผลผลิต 0.62 กิโลกรัม/ต้น มีผลใกล้เคียงกับการใช้คาร์โบฟูรานอัตรา 10 กรัม/ต้น ที่ยังเกิดปมสูงถึง 3.04 และมีผลผลิตเพียง 63 กก./ต้น การทดลองสรุปได้ว่า การใช้สารอะบาเม็กตินราดดินในอัตรา 2 เท่าของการผสมน้ำที่ใช้พ่นกำจัดแมลงส่วนเหนือดินให้ผลในการกำจัดโรครากปมของพริกในแปลงของเกษตรกรดีกว่ากรรมวิธีอื่น เช่นเดียวกับงานทดลองปี 2551 ในพื้นที่ของศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานีในปี 2553 จะได้ทำการศึกษาโดยใช้สารเคมีชนิดเม็ด (Granular) คลุกดิน เปรียบเทียบผลการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมศัตรูพริกในแปลงของเกษตรกรต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   1114_2552.pdf (ขนาด: 148.54 KB / ดาวน์โหลด: 817)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม