การศึกษาวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชสำหรับการนำเข้าแครอท
#1
การศึกษาวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชสำหรับการนำเข้าแครอท
สุคนธ์ทิพย์ สมบัติ, ณัฏฐพร อุทัยมงคล, วลัยกร รัตนเดชากุล, วรัญญา มาลี และอลงกต โพธิ์ดี
กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          แครอท (Carrot: Daucus carota L.) เป็นพืชที่เจริญได้ดีในอากาศหนาว จัดอยู่วงศ์อัมเบลลิเฟอร์อี้ (Umbelliferae) มีแหล่งผลิตแครอทปริมาณมากที่สุดในโลก คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน รองลงมาได้แก่ สหพันธรัฐรัสเซีย สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐโปแลนด์ และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ สำหรับประเทศไทยมีการนำเข้าแครอทในปี 2550 ปริมาณสูงสุด คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน 18,863,358.00 กิโลกรัม รองลงมาคือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ปริมาณ 770,611.55 กิโลกรัม และ 181,380.00 กิโลกรัม ตามลำดับ ผลการตรวจสอบศัตรูพืชบนแครอทนำเข้าจากต่างประเทศ ณ ด่านตรวจพืชลาดกระบัง และท่าเรือกรุงเทพฯ ระหว่างเดือนเมษายน 2551 - กุมภาพันธ์ 2552 จำนวน 3 ประเทศ 13 ตัวอย่าง ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนพบเชื้อรา Thielaviopsis thielavioides, Alternaria radicina, Rhizopus sp., Geotichum sp., Ulocladium sp. ออสเตรเลียพบเชื้อรา Thielaviopsis thielavioides และ Fusarium solani และนิวซีแลนด์พบเชื้อรา Phoma sp.

          จากผลการศึกษาการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของแครอทนำเข้า ในขั้นตอนการจัดกลุ่มศัตรูพืช (Pest categorization) โดยการรวบรวมข้อมูลศัตรูพืชจากรายงานและเอกสารวิชาการทั้งในประเทศ และต่างประเทศทั่วโลก พบศัตรูพืชของแครอทจำนวนทั้งสิ้น 296 ชนิด เป็นศัตรูพืชที่ไม่มีรายงานพบในประเทศไทย 221 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นศัตรูพืชกักกันที่มีความเสี่ยงปานกลางสามารถติดเข้ามา ตั้งรกราก และแพร่กระจายจนก่อให้เกิดความเสียหายถึงระดับเศรษฐกิจได้จำนวน 25 ชนิด จึงจำเป็นต้องมีมาตรการจัดการความเสี่ยงศัตรูพืชก่อนการส่งออกที่เหมาะสมสำหรับแมลงหรือไร เช่น การรมยาด้วยเมทิลโบร์ไมด์ที่อัตรา 32 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร นาน 2 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 21 องศาเซลเซียส ที่ประเทศต้นทาง การจัดการเชื้อสาเหตุโรคพืชสามารถลดความเสี่ยงได้โดยการตรวจสอบ และกำจัดตั้งแต่ในแปลงปลูกก่อนเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวรวมถึงก่อนการส่งออกกำหนดมาตรการให้ตรวจสอบและระบุคำรับรองลงในใบรับรองสุขอนามัยพืชให้ปราศจากศัตรูพืชกักกันดังกล่าวและเมื่อสินค้ามาถึงจะถูกสุ่มตรวจ ณ จุดนำเข้า หากตรวจพบศัตรูพืชกักกันจะถูกทำลายหรือให้ส่งกลับ กรณีตรวจพบศัตรูพืชที่ไม่ใช่ศัตรูพืชกักกันทำการกำจัดศัตรูพืชดังกล่าวด้วยวิธีการที่เหมาะสม


ไฟล์แนบ
.pdf   1214_2552.pdf (ขนาด: 216.43 KB / ดาวน์โหลด: 889)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม