ลายพิมพ์ดีเอ็นเอและความหลากหลายทางพันธุกรรมรา Phytophthora parasitica
#1
ลายพิมพ์ดีเอ็นเอและความหลากหลายทางพันธุกรรมรา Phytophthora parasitica
อมรรัตน์ ภู่ไพบูลย์ และปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ได้ศึกษารา Phytophthora spp. ที่ได้จากการสำรวจ รวบรวมตัวอย่างโรคใบไหม้ โรครากเน่า โคนเน่า ผลเน่า จากพืชชนิดต่างๆ ในแหล่งปลูกที่สำคัญทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2550 - 2551 และเชื้อที่มีอยู่ใน culture collection รวม 14 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ปทุมธานี นครปฐม ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี เพชรบูรณ์ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ ภูเก็ต กำแพงเพชร ลำปาง และเชียงใหม่ แยกเชื้อบริสุทธิ์ได้ รา Phytophthora spp. 33 ไอโซเลท ที่เป็นสาเหตุโรคพืช 12 ชนิด คือ หมากผู้ หมากเมีย เดหลี ยางพารา ลองกอง ทุเรียน มะเขือ (มะเขือม่วงผลเล็ก มะเขือม่วงผลใหญ่ และมะเขือยาว) สะระแหน่ สับปะรด ส้ม กล้วยไม้ หน้าวัว และแพงพวยฝรั่ง (แพงพวยบก) ตรวจสอบความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์เชื้อ ศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา ลักษณะการเจริญของเส้นใย (ลักษณะโคโลนี) ลักษณะรูปร่างและขนาดสปอร์และศึกษาแบบคู่ผสมของรา Phytophthora spp. จำแนกชนิดตามลักษณะทางสัณฐานวิทยาพบ รา P. parasitica จำนวน 29 ไอโซเลท เป็นสาเหตุโรคเน่าของพืชที่ศึกษา และพบ รา P. heveae เป็นสาเหตุโรคกล้าเน่าของกล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ รา P. palmivora เป็นสาเหตุโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียน สาเหตุโรคหน้ายางพาราเน่าจากปราจีนบุรี คือ รา P. parasitica แต่สาเหตุโรคหน้ายางพาราเน่า จากจันทบุรี คือ รา P. botryosa และรา Pythium sp. แยกได้จากต้นหน้าวัว

          ศึกษาลายพิมพ์ดีเอ็นเอและความหลากหลายทางพันธุกรรมของรา Phytophthora spp. ด้วยเครื่องหมายโมเลกุล 2 ชนิด คือ SSR-PCR และ AFLP ด้วยเทคนิค SSR-PCR โดย microsattlelite ไพรเมอร์จำนวน 9 คู่ ได้แถบดีเอ็นเอที่มีความแตกต่าง 220 แถบ จากพืชอาศัย 6 ชนิด ได้แก่ ยางพารา (โรคหน้ายางพาราเน่า จากปราจีนบุรี) สับปะรด สะระแหน่ กล้วยไม้ ส้ม และ Pythium sp. จากหน้าวัว วิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมด้วยโปรแกรม NTSys 2.22e (Dice coefficient) Phylogenetic tree แบ่งกลุ่มรา Phytophthora spp. ออกจากรา Pythium sp. ที่ 30 % similarity รา Phytophthora spp. จำแนกเป็น 4 กลุ่ม คือ A เป็นรา P. parasitica จากยางพารา กลุ่ม B ประกอบด้วยรา P. parasitica จากสับปะรด สะระแหน่ กล้วยไม้ และส้ม ด้วยค่า similarity 45-80 % กลุ่ม C เป็นรา P. haveae สาเหตุโรคกล้วยไม้รองเท้านารี กลุ่ม D เป็นรา P. palmivora สาเหตุโรคกล้วยไม้ ไม่พบรูปแบบความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมที่ชัดเจนกับพืชอาศัยหรือแหล่งปลูกพืช ลายพิมพ์ดีเอ็นเอด้วยเทคนิค AFLP ไพรเมอร์ E+A/M+AAC ได้แถบดีเอ็นเอที่มีความแตกต่างกัน 65 แถบแบ่งราออกเป็น 7 กลุ่มพบ ความสัมพันธ์ของลักษณะพันธุกรรมกับพืชอาศัยและแหล่งปลูกพืชในบางกลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม A เป็นไอโซเลทของราสาเหตุโรคกล้วยไม้ จากจังหวัดเชียงใหม่ (similarity 45-75 %) (จำแนกทางสัณฐานวิทยาได้เป็นรา P. parasitica และ P. haveae) กลุ่ม B เป็นไอโซเลทของหน้าวัว จากจังหวัดภูเก็ต ลำปาง และปราจีนบุรี ยกเว้นไอโซเลทจากกรุงเทพมหานคร ที่มีความแตกต่างจากไอโซเลทอื่น จัดอยู่ในกลุ่ม F เป็นสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรครุนแรง กลุ่ม C เป็นไอโซเลทจากมะเขือ สะระแหน่ และเดหลี กลุ่ม D เป็นไอโซเลทจากยางพารา และส้ม และกลุ่ม E, F เป็นไอโซเลทจากหมากผู้หมากเมียและลองกอง การศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมด้วยเครื่องหมายโมเลกุลแสดงให้เห็นว่ารา Phytophthora parasitica จากพืชอาศัยชนิดต่างกัน มีความหลากหลายทางพันธุกรรมค่อนข้างสูง


ไฟล์แนบ
.pdf   1241_2552.pdf (ขนาด: 435.79 KB / ดาวน์โหลด: 1,638)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม