อนุกรมวิธานและชีววิทยาของไส้เดือนฝอยสกุล Radopholus
#1
อนุกรมวิธานและชีววิทยาของไส้เดือนฝอยสกุล Radopholus
นุชนารถ ตั้งจิตสมคิด และช่อทิพย์ ศัลยพงษ์
ผู้เชี่ยวชาญ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และกลุ่มบริการส่งออกสินค้าเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร

          เก็บรากไม้น้ำจากแหล่งผลิตไม้น้ำเขตนครราชสีมา จำนวน 50 ตัวอย่าง และทำการแยกได้ไส้เดือนฝอย Radopholus sp. จากรากไม้น้ำ โดยวิธีใช้คลื่นเสียงอัลทราโซนิกและปั่นราก น้ำไส้เดือนฝอยปลูกเลี้ยงในต้นพืชอาศัย (ไม้น้ำสกุล Anubias sp.) ในบ่อซีเมนต์ เป็นเวลา 2 เดือน ทำการแยกไส้เดือนฝอยออกจากรากพรรณไม้น้ำ และจัดทำสไลด์ถาวรตัวเต็มวัยเพศเมียเพื่อศึกษารูปร่างลักษณะทางสัณฐานวิทยาโดยใช้ Light microscope (LM) พบว่า ตัวเต็มวัยเพศเมียมีขนาดมีขนาดความยาวลำตัว 550 - 880 ไมครอน (0.55 - 0.88 มม.) รูปร่างใหญ่กว่าเพศผู้ โดยมีความกว้างลำตัว 20 - 24 ไมครอน ส่วนหัวโค้งมนแต่ไม่ยกขึ้น ประกอบด้วยรอยย่น 4 รอย หลอดดูดอาหารแข็งแรงมีความยาว 16 - 21 ไมครอน (เฉลี่ย 18 ไมครอน) มี Basal knob กลม ส่วนของ esophagus ซ้อนทับลำไส้ทางด้านหลัง (Dorsal) พบอวัยวะสืบพันธุ์เพศเมีย (Vulva) ในตำแหน่งกลางลำตัว โดยประมาณ 54 % ของความยาวลำตัว มีรังไข่ (Ovary) 2 ข้าง ส่วนของ Spermatheca มีลักษณะรี ส่วนหางเรียวยาวและบริเวณปลายหางมน มีเส้นข้างลำตัว 4 เส้น และตัวเต็มวัยเพศผู้มีขนาดความยาวลำตัว 500 - 600 ไมครอน (0.50 - 0.60 ไมครอน) รูปร่างผอมบางกว่าเพศเมีย ส่วนหัวโค้งมนกลมและยกขึ้น ประกอบด้วยรอยย่น 4 รอย หลอดดูดอาหาร (Stylet) ผอม เรียวเล็กความยาว 12 - 13 ไมครอน มี Basal knob ขนาดเล็กมาก ไม่พบ median bulb และส่วนของ Esophagus ลดขนาดลง มีส่วนหางเรียวและกลม บริเวณปลายหางมีอวัยวะสืบพันธุ์ (Spicule) ยาว 17 - 19 ไมครอน มีเส้นข้างล้าตัว (Lateral line) 4 เส้น และจากการศึกษาวงจรชีวิตของไส้เดือนฝอย Radopholus ในชิ้นส่วนพืช (แครอท) สภาพปลอดเชื้อ พบว่าวงจรชีวิตจากตัวเต็มวัยเพศเมียสร้างไข่ ไข่ฟัก เป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 4 และเป็นตัวเต็มวัยเพศเมียรุ่นใหม่ ใช้เวลา 32 และ 26 วัน ที่อุณหภูมิ 22 และ 32 องศาเซลเซียส ตามลำดับ


ไฟล์แนบ
.pdf   241_2556.pdf (ขนาด: 386.04 KB / ดาวน์โหลด: 830)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม