อนุกรมวิธานและชีววิทยาของรา Alternaria และ Stemphylium สาเหตุโรคพืช
#1
อนุกรมวิธานและชีววิทยาของรา Alternaria และ Stemphylium สาเหตุโรคพืช
สุณีรัตน์ สีมะเดื่อ, พรพิมล อธิปัญญาคม, ชนินทร ดวงสอาด และอภิรัชต์ สมฤทธิ์
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช


          จากการเก็บรวบรวมตัวอย่างโรคพืช ในช่วงตุลาคม 2553 ถึงกันยายน 2556 ได้ตัวอย่างโรคพืชที่เกิดจากรา Alternaria spp. และ Stemphylium sp. จำนวน 210 ตัวอย่าง บนพืช 21 ชนิด จำแนกชนิด โดยศึกษาลักษณะทางสัณฐานของเชื้อพบว่า ได้ตัวอย่างโรคพืชที่เกิดจากรา Alternaria spp. จำนวน 191 ตัวอย่าง บนพืช 21 ชนิด คือ โรคใบจุดคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักกาดหางหงส์ กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี กะหล่ำเจดีย์ บรอคโคลี่ กวางตุ้ง และ ผักกาดแม้ว เกิดจากเชื้อ Alternaria brassicicola โรคใบจุดสีม่วงของหอมแดง หอมแบ่ง หอมหัวใหญ่ และกระเทียม เกิดจากเชื้อ A. porri โรคใบจุดของมะเชือเทศ และมันฝรั่ง เกิดจากเชื้อ A. solani โรคใบจุดของบานไม่รู้โรย และสร้อยไก่ เกิดจากเชื้อ A. gomphrenae โรคใบไหม้ของทานตะวัน เกิดจากเชื้อ A. hilianthi โรคใบไหม้ของดาวเรือง และชวนชม เกิดจากเชื้อ Alternaria sp และได้ตัวอย่างโรคพืชที่เกิดจากรา Stemphylium sp. จำนวน 19 ตัวอย่าง บนพืช 3 ชนิด คือ โรคใบไหม้ของหอมแดง หอมหัวใหญ่ และกระเทียม เกิดจากเชื้อรา Stemphylium vesicarium และเก็บเชื้อบริสุทธิ์ และตัวอย่างแห้งโรคพืช จำนวน 210 ไอโซเลท จากการศึกษาชนิดอาหารที่เหมาะสมต่อการเจริญและสร้างสปอร์ของรา A. brassicicola A. gomphrenae และ Alternaria sp. สาเหตุโรคใบจุดดาวเรืองพบว่า ทั้ง 3 ชนิด เจริญได้ดีที่สุดบนอาหาร V8 รองลงมาได้แก่ PDA ½ PDA เติม CaCo3 PCA ½ PDA WA และ CZA ตามลำดับ และสร้างสปอร์ได้ดีที่สุด บนอาหาร ½ PDA เติม CaCo3 รองลงมา ได้แก่ ½ PDA WA PCA V8 PDA และ CZA ตามลำดับ การศึกษาผลของแสงต่อการเจริญและสร้างสปอร์ของเชื้อรา A. brassicicola และ S. vesicarium พบว่าเชื้อราเจริญ และสร้างสปอร์ได้ดีที่สุด เมื่ออยู่ภายใต้แสง fluorescent 8 ชั่วโมง สลับกับมืด 16 ชั่วโมง รองลงมาได้แก่ แสง near UV 8 ชั่วโมง สลับกับมืด 16 ชั่วโมงต่อวัน แสง fluorescent 24 ชั่วโมงต่อวัน แสง near UV 24 ชั่วโมงต่อวัน และในที่มืด ตามลำดับ และจากการศึกษาผลของอุณหภูมิต่อการเจริญและสร้างสปอร์ของเชื้อรา A. brassicicola และ S. vesicarium พบว่าเชื้อราเจริญและสร้างสปอร์ได้ดีที่สุด เมื่อบ่มที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส รองลงมา ได้แก่ 25 20 และ 15 องศาเซลเซียส ตามลำดับ


ไฟล์แนบ
.pdf   265_2556.pdf (ขนาด: 504.97 KB / ดาวน์โหลด: 2,983)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม