เทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวให้มีคุณภาพ
#1
เทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวให้มีคุณภาพ
จิราลักษณ์ ภูมิไธสง, สุวิมล  ถนอมทรัพย์, เชาวนาถ  พฤทธิเทพ, ชูชาติ บุญศักดิ์, อัจฉรา  จอมสง่าวงศ์, ปวีณา  ไชยวรรณ์, นรีลักษณ์ วรรณสาย, สุเทพ สหายา, คมสัน นครศรี, ภัทร์พิชชา รุจิระพงศ์ชัย, จารุรัตน์  พุ่มประเสริฐ, นฤเทพ เวชภิบาล, ศิริลักษณ์  จิตรอักษร, สุทธิดา บูชารัมย์, นิภาภรณ์  พรรณรา และศฬิษา สังวิเศษ
ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท, สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน, กองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร, กองวิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรบุรีรัมย์, ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชพิษณุโลก และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรขอนแก่น

          โครงการวิจัยเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวให้มีคุณภาพ ประกอบด้วย 2 กิจกรรม คือ กิจกรรมเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวผิวมัน และเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวผิวดำ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการแบบผสมผสานในการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพถั่วเขียว และ 2 ) ศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวและหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม กิจกรรมวิจัยเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวผิวมัน ด้านเทคโนโลยีการผลิตพบว่า ได้สายพันธุ์ไรโซเบียมที่มีประสิทธิภาพการตรึงไนโตรเจนสูงในห้องปฏิบัติการสำหรับถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 84-1 คือ DASA02002 DASA02020 DASA02042 DASA02166 และ DASA02193 และถั่วเขียวสายพันธุ์ CNMB-06-03-60-7 คือ DASA02001 DASA02006 DASA02009 DASA02042 และ DASA02082 การใช้เชื้อไรโซเบียมร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมีฟอสเฟตอัตรา 2 เท่า (0-6-0) ตามคำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินโดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง พร้อมปลูกและระยะออกดอกช่วยเพิ่มผลผลิตเมล็ดถั่วเขียว และช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ปุ๋ยฟอสเฟต และปุ๋ยโพแทช เท่ากับ 100 33.3 และ 100 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับการใส่ปุ๋ย อัตรา 9-9-9 กิโลกรัมต่อไร่ แต่การใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมร่วมกับการจัดการดินได้แก่ แกลบเผา ปุ๋ยอินทรีย์ และการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ในพื้นที่เขตชลประทานและเขตอาศัยน้ำฝนพบว่า มีผลต่อค่าการตรึงไนโตรเจน จำนวนปม และน้ำหนักปมสดของถั่วเขียว แต่ไม่มีผลต่อผลผลิต การไถกลบซากถั่วเขียวที่อายุ 35 45 วัน หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 และ 2 ครั้ง สามารถเพิ่มผลผลิตฝักสดทั้งเปลือกของข้าวโพดข้าวเหนียวที่ปลูกตามเทียบเท่ากับการใส่ปุ๋ยไนโตรเจน อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ การปลูกถั่วเขียวบนดินเหนียวเขตภาคกลางและดินร่วนปนทรายเขตภาคเหนือตอนล่างควรมีการให้น้ำจนถึงระยะออกดอก (R1) ซึ่งจะให้ผลผลิต คุณภาพ และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูงที่สุด

          ด้านวิทยาการเมล็ดพันธุ์พบว่า การใช้สารอิทิฟอนพ่นก่อนเก็บเกี่ยวทุกอัตรามีผลต่อปริมาณเมล็ดดี แต่ไม่มีผลกระทบต่อความงอกและความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ แต่การใช้ความเข้มข้นสูงขึ้นถึง 900 ppm มีผลทำให้ผลผลิตเมล็ด ผลผลิตเมล็ดพันธุ์และคุณภาพเมล็ดลดลง ขณะที่การใช้สารเมพิควอทคลอไรด์พบว่า ไม่มีผลต่อการทำให้ใบถั่วเขียวแห้งและร่วง หรือผลผลิตถั่วเขียวแตกต่างกันทางสถิติ การเก็บเกี่ยวถั่วเขียวด้วยแรงงานคนแบบปลิดฝัก มีผลกระทบต่อผลผลิต คุณภาพ และเปอร์เซ็นต์การสูญเสียเมล็ดขณะเก็บเกี่ยวน้อยที่สุด แต่มีต้นทุนการเก็บเกี่ยวต่อไร่สูงกว่ากรรมวิธีอื่นๆ ขณะที่การเก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องเกี่ยวนวดในระยะฝักสุกแก่ 90% มีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียเมล็ดขณะเก็บเกี่ยว เปอร์เซ็นต์การแตกร้าวของเมล็ด รวมถึงต้นทุนเก็บเกี่ยวต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีเก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องเกี่ยวนวดวิธีอื่นๆ แต่การพ่นสารเคมีให้ต้นแห้งก่อนเก็บเกี่ยวมีการสูญเสียเมล็ดขณะเก็บเกี่ยวสูงสุด การเก็บเกี่ยว ถั่วเขียวระยะ 0, 1 และ 2 สัปดาห์หลังสุกแก่ เป็นระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงสีผิวเมล็ดต่ำกว่า แต่มีเปอร์เซ็นต์ความงอกและความแข็งแรงของเมล็ดสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการเก็บเกี่ยวที่ระยะ 3 สัปดาห์ และเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงสีผิวเพิ่มขึ้นตามอายุการเก็บรักษา การนำเมล็ดแข็งของถั่วเขียวผิวมันและถั่วเขียวผิวดำแช่ในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 1 - 5 นาที หรืออบลมร้อนที่อุณหภูมิ 100 - 125 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 2 - 4 นาที สามารถเพิ่มเปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ด และลดปริมาณเมล็ดแข็งได้ ส่วนวิธีการเร่งอายุเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 72 เพื่อประเมินการเก็บรักษาที่อายุ 1 ปี คือ อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 100 เปอร์เซ็นต์ เวลา 48 ชั่วโมง ด้านการเก็บรักษาเมล็ดถั่วเขียวเพื่อรักษาปริมาณสารไอโซฟลาโวนและโปรตีน ควรเก็บรักษาก่อนนำไปแปรรูปประมาณ 2 เดือน โดยการเก็บรักษาพันธุ์ชัยนาท 72 ที่ความชื้นเมล็ดเริ่มต้น 10 เปอร์เซ็นต์ และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส มีปริมาณไอโซฟลาโวนสูงสุด ขณะที่พันธุ์กำแพงแสน 2 ควรมีความชื้นเมล็ดเริ่มต้น 10 เปอร์เซ็นต์ และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส มีปริมาณเปอร์เซ็นต์โปรตีนมากที่สุด ขณะที่การเก็บรักษาแป้งฟลาวและสตาร์ชของถั่วเขียวที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส มีอัตราการลดลงของสารไอโซฟลาโวนที่น้อยกว่าการเก็บที่อุณหภูมิห้อง ด้านการใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้จากการแปรรูปถั่วเขียว ได้แก่ กากถั่วเขียว และโปรตีน คาดว่าจะมีปริมาณน้อยลง เนื่องจากผลผลิตถั่วเขียวที่ลดลงและมีราคาที่แพงขึ้น ผลการทดลองด้านการอารักขาพืชพบว่า การปลูกถั่วเขียวในวันที่ 15 ธันวาคม 2554 ให้ผลผลิตสูงสุดและแสดงอาการเป็นโรคราแป้งต่ำสุด การพ่นสารเคมีเบโนมิล 50%WP อัตรา 15 20 และ 25 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อถั่วเขียวอายุ 14 วัน และพ่นซ้ำ 2 ครั้ง ทุก 7 วัน สามารถควบคุมโรคราแป้งได้ดีที่สุด การคลุกเมล็ดด้วยสารฆ่าแมลง imidacloprid 70%WS อัตรา 5 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม imidacloprid 60%FS อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม และ thiamethoxam 35%FS อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ เพลี้ยจักจั่น และด้วงหมัดผัก และให้ผลผลิตสูงกว่าการไม่ใช้สารคลุกเมล็ด ส่วนการป้องกันกำจัดหนอนม้วนใบในถั่วเขียวพบว่า การพ่นสาร indoxacarb (Ammate 15%EC), methoxyfenozide (Prodigy 24%SC) และ lufenuron (Math 5%EC) อัตรา 10, 10 และ 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด การปลูกถั่วเขียวในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม  และเมษายน พบการระบาดของหนอนแมลงวันเจาะลำต้นในถั่วเขียวมากที่สุด แต่ให้ผลผลิตสูงที่สุดเมื่อปลูกในเดือนมกราคม ขณะที่เพลี้ยอ่อนเป็นแมลงศัตรูถั่วเขียวที่พบมากทุกฤดูปลูกในเขตภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง โดยพบมากที่สุดในปลายฤดูฝน รองลงมาคือ ฤดูแล้ง สารกำจัดวัชพืชประเภทใช้ก่อนวัชพืชงอก pendimethalin, oxyfluorfen, oxadiazon และ imazapic สามารถควบคุมวัชพืชได้ทั้งประเภทใบแคบและประเภทใบกว้างได้ดี ส่วนสารกำจัดวัชพืชประเภทใช้หลังวัชพืชงอก imazapic, imazathapyr, propaquisafop + fomesafen, fluazifop-P-butyl+fomesafen และ aloxyfop-p-methyl + fomesafen สามารถกำจัดวัชพืชได้ทั้งประเภทใบแคบและประเภทใบกว้างได้ดีที่สุดและให้ผลผลิตสูงไม่แตกต่างกัน ขณะที่การใช้สารวัชพืชประเภทก่อนงอกอะลาคลอร์ อัตรา 240 กรัม(ai)ต่อไร่ และสารอิมาเซทาเพอร์ 20 กรัม(ai)ต่อไร่ ในการปลูกถั่วเขียวหลังการทำนา ควรมีการกำจัดวัชพืชอีกครั้งเมื่อถั่วเขียวอายุ 25 - 30 วัน

          ผลการทดลองของกิจกรรมวิจัยเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวผิวดำ ด้านอารักขาพืชพบว่า การคลุกดินก่อนปลูกด้วยเชื้อรา Trichoderma harzianum ในรูปส่วนผสมของเชื้อรา:ปุ๋ยหมัก:ดิน ในอัตราส่วน 1:4:10 สามารถลดการติดเชื้อในเมล็ดได้ และให้ผลผลิตสูงสุด


ไฟล์แนบ
.pdf   62_2558.pdf (ขนาด: 670.46 KB / ดาวน์โหลด: 3,295)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม