การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสับปะรด
#1
การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสับปะรด
ทวีศักดิ์ แสงอุดม, ชยานิจ ดิษฐบรรจง, กษิดิศ ดิษฐบรรจง, ภุมรินทร์ วณิชชนานันท์, สิริชัย สาธุวิจารณ์, จรรยา มณีโชติ, วนิดา ธารถวิล, เสริมศิริ คงแสงดาว, สำราญ สะรุโณ, วันเพ็ญ ศรีทองชัย, ปริเชษฐ์ ตั้งกาญจนภาสน์, กาญจนา วาระวิชะนี, มัลลิกา นวลแก้ว, ศุกร์ เก็บไว้, จิตต์ เหมพนม และนลินี จากริกภากร

          การจัดการการผลิตสับปะรดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและการจัดการโรคเหี่ยว ดำเนินการที่สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปัตตานีและสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ระหว่างปี 2553 - 2557 เพื่อศึกษาความสัมพันธ์เพลี้ยแป้งพาหะโรคเหี่ยว การควบคุมโรคฯ วัชพืชและตอสับปะรด รวมทั้งเทคนิคการขยายพันธุ์สับปะรดโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ผลการดำเนินงานพบว่า ต้นสับปะรดที่รับเชื้อไวรัส PMWaV-2 และ PMWaV-1 + PMWaV-2 เริ่มตรวจพบแถบดีเอ็นเอของไวรัส PMWaV-2 ขนาด 609 คู่เบส หลังการถ่ายทอดโรคแล้ว 2 เดือน แต่ต้นสับปะรดเริ่มแสดงอาการใบอ่อนนิ่ม สีเหลืองซีด และลู่ลง หลังจากถ่ายทอดเชื้อแล้ว 4 เดือน สำหรับไวรัส PMWaV-1 เริ่มตรวจพบแถบของดีเอ็นเอ หลังการถ่ายทอดโรคแล้ว 4 เดือน และแสดงอาการเหี่ยวไม่รุนแรงเท่ากับต้นที่มีไวรัส PMWaV-1 + PMWaV-2 อยู่ร่วมกัน และเปอร์เซ็นต์การถ่ายทอดโรคของไวรัสทั้ง 2 strain ค่อนข้างสูงประมาณ 80 - 100% แสดงว่าเพลี้ยแป้งสีชมพูเป็นพาหะที่สำคัญในการถ่ายทอดโรคเหี่ยวสับปะรด สำหรับเพลี้ยแป้งสีเทา มีเปอร์เซ็นต์การถ่ายทอดโรคค่อนข้างต่ำประมาณ 20% และสับปะรดไม่แสดงอาการของโรคหลังจากการถ่ายทอดไวรัสแล้ว 5 เดือน

          ด้านการจัดการโรคเหี่ยวโดยการจุ่มหน่อพันธุ์ด้วยวิธีการต่างๆ มี 5 กรรมวิธี คือ 1) วิธีเกษตรกร 2) จุ่มหน่อพันธุ์ก่อนปลูกในน้ำร้อนอุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที 3) จุ่มหน่อพันธุ์ด้วยสารเคมีอิมิดาโคลพริด อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร 4) จุ่มหน่อพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสาร NAA และ 5) จุ่มหน่อพันธุ์ก่อนปลูกด้วยน้ำหมักพบว่า กรรมวิธีการจุ่มน้ำร้อน 55 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที มีต้นสับปะรดที่เป็นโรคเหี่ยวต่ำสุด 16.30 เปอร์เซ็นต์ รองลงมา ได้แก่ การจุ่มหน่อพันธุ์ด้วยสารเคมีอิมิดาโคลพริด ส่วนกรรมวิธีการจุ่มหน่อในน้ำหมักและสาร NAA และกรรมวิธีเกษตรกร มีเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคเหี่ยว 20.73 29.17 31.71 และ 62.95 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ด้านรายได้สุทธิพบว่า กรรมวิธีที่จุ่มหน่อพันธุ์ก่อนปลูกในน้ำร้อน ให้รายได้สุทธิสูงสุด คือ 20,380 บาท/ไร่ รองลงมา ได้แก่การจุ่มหน่อพันธุ์ด้วยสารเคมีอิมิดาโคลพริด น้ำหมัก สาร NAA และกรรมวิธีเกษตรกร ให้รายได้สุทธิ 15,150 7,220 2,400 และ 6,790 บาท/ไร่ ตามลำดับ

          ด้านการทดสอบประสิทธิภาพสารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนงอกและหลังงอกในสับปะรดพบว่า ประสิทธิภาพสารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนงอกสาร bromacil + diuron สามารถควบคุมวัชพืชได้ดีและไม่เป็นพิษต่อสับปะรด วัชพืชหลักที่สามารถควบคุมได้ คือ หญ้าตีนนก (Digitaria sanguinalis (L.). Scop.) หญ้าขนเล็ก (Brachiaria distachya Stapf.) หญ้าปากควาย (Dactyloctenium aegyptium L.) และผักยาง (Euphorbia heterophylla L.) ส่วนสารกำจัดวัชพืชประเภทหลังงอกพบว่า สาร bromacil + atrazine และ bromacil + diuron+ametryn สามารถควบคุมวัชพืชได้ดีและไม่เป็นพิษต่อสับปะรด วัชพืชหลักที่สามารถควบคุมได้ คือ หญ้ากินนี (Panicum maximum) หญ้าปากควาย (Dactyloctenium aegyptium L.) ครามขน (Indigofera hirsute L.) สาบม่วง (Praxelis clematidea R.M. King) และ ผักยาง (Euphorbia heterophylla L.) ส่วนสารกำจัดวัชพืชที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าตอสับปะรดคือ สาร paraquat อัตรา 890 กรัมสารออกฤทธิ์/ไร่ สามารถทำให้ต้นตอสับปะรดแสดงอาการเป็นพิษรุนแรง แต่สาร triclopyr มีประสิทธิภาพในการทำลายเนื้อเยื่อภายในลำต้นตอสับปะรดดีกว่าและจำนวนต้นตอสับปะรดที่งอกใหม่น้อย สำหรับการจัดการวัชพืชบาหยาในสับปะรด ได้ทดสอบประสิทธิภาพสารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนงอก 10 ชนิด ได้แก่ tebuthiuron + pendimethalin, flumioxazin, pendimethalin + diuron, hexaxinone/diuron, alachlor + diuron, pendimethalin + dimethenamid และ tebuthiuron + oxyfluorfen อัตรา 125+165, 20, 165+320, 600, 320+320, 165+225 และ 125+24 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ ตามลำดับ ก่อนการปลูกสับปะรด และการพ่นสารกำจัดวัชพืช metribuzin และ bromacil + diuron อัตรา 140 และ 560+560 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ ตามลำดับ หลังจากปลูกสับปะรด และกรรมวิธีไม่กำจัดวัชพืช ผลการทดลองพบว่า ประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชของสารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนงอก ที่ระยะ 60 วัน หลังพ่นสารกำจัดวัชพืช พบว่าการพ่นสารกำจัดวัชพืชทุกกรรมวิธีสามารถควบคุมวัชพืชได้ดี และสารกำจัดวัชพืชไม่เป็นพิษต่อสับปะรด ส่วนการทดสอบประสิทธิภาพสารกำจัดวัชพืชประเภทหลังงอก ใช้สาร 10 ชนิด พบว่าประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชของสารกำจัดวัชพืชประเภทหลังงอกที่ระยะ 60 วันหลังพ่นสาร โดย bromacil + diuron, bromacil + atrazine, bromacil + diuron + ametryn และ diuron + ametryn สามารถควบคุมวัชพืชได้ดีและไม่เป็นพิษต่อสับปะรด วัชพืชหลักที่สามารถควบคุมได้ คือ หญ้าท่าพระ (Richardia brasiliensis Gomez.) บาหยา (Asystasia gangetica ssp.) และสาบม่วง (Praxelis clematidea R.M. King)

          ส่วนการศึกษาเปรียบเทียบการเพิ่มปริมาณยอดอ่อนสับปะรดในอาหารเหลว (suspension culture) และระบบ temporary immersion bioreacter (TIB) ดำเนินการในสัปปะรด 2 พันธุ์ พบว่าสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียสามารถเพิ่มปริมาณยอดอ่อนสูงสุด 22.4 เท่า ในอาหารเหลว MS ที่เติม BA 3 μM พันธุ์เพชรบุรีสามารถเพิ่มปริมาณยอดอ่อนได้ 18 - 19 เท่า ในอาหารเหลว MS ที่เติม BA-6 ร่วมกับ NAA 2 ภายในเวลา 8 สัปดาห์ โดยที่ยอดอ่อนที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่มีการพัฒนาเป็นราก ต้องชักนำให้เกิดราก บนอาหารแข็ง MS ที่เติม IBA 2-6 ส่วนการเลี้ยงเพิ่มปริมาณยอดอ่อนในระบบ TIB ในระยะเวลาที่เท่ากัน สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย สามารถเพิ่มจำนวนยอดรวมสูงสุด 18.2 เท่า เมื่อใช้อาหาร MS เติม BA 3 μM ในขณะที่พันธุ์เพชรบุรีสามารถเพิ่มจำนวนยอดรวมได้ 16.4 - 15.6 เท่า เมื่อได้รับอาหาร MS ที่มี BA 3 และ 6 μM ร่วมกับ NAA 2 μM ตามลำดับ ระยะเวลาให้อาหารสัมผัสชิ้นส่วนพืช 6 - 8 ครั้ง ต่อวัน ครั้งละ 1 นาที จะให้ผลต่อการเพิ่มปริมาณยอดรวมสูงสุดและพบการพัฒนาของรากเกิดขึ้นบ้างซึ่งสามารถนำออก acclimatize ในสภาพโรงเรือนได้เลยและมีอัตราการรอดชีวิตสูงถึง 89 - 90 % เหมาะสำหรับการนำไปขยายผลเพื่อการขยายพันธุ์ปริมาณมากๆ ส่วนการเลี้ยงบนอาหารแข็งจะเพิ่มปริมาณได้เพียง 3 - 4 เท่า


ไฟล์แนบ
.pdf   71_2558.pdf (ขนาด: 2.92 MB / ดาวน์โหลด: 1,204)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม