ทดสอบเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
#1
ทดสอบเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
พัชราภรณ์ ลีลาภิรมย์กุล, ศิริพร หัสสรังสี, นฤนาท ชัยรังษี, อนรรค อุปมาลี, ฉัตรสุดา เชิงอักษร, จงรัก อิ่มใจ, พิจิตร ศรีปินตา, นิพัฒน์ สุขวิบูลย์, วิทยา อภัย, อาทิตยา พงษ์ชัยสิทธิ์ และเนาวรัตน์ ตั้งมั่นคงวรกูล

          โครงการทดสอบเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ดำเนินการระหว่างปี 2555 – 2558 ประกอบด้วย 2 การทดลอง คือ ทดสอบเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตลำไยนอกฤดูเพื่อชักนำการออกดอกและติดผลช่วงฤดูฝน (อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน) และเทคโนโลยีการจัดการศัตรูลำไยเพื่อแก้ปัญหาสารพิษตกค้างในผลผลิตลำไยนอกฤดู จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่) มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการชักนำการออกดอกและติดผลช่วงฤดูฝน และเพื่อลดสารพิษตกค้างในผลผลิตลำไยและลดต้นทุนการผลิตด้านการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชในการทดสอบเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการชักนำการออกดอกและติดผลช่วงฤดูฝน พบว่าการระบาดของศัตรูลำไย ในแปลงที่ใช้วิธีการแนะนำและแมลงที่ใช้วิธีการของเกษตรกรมีความคล้ายคลึงกัน ได้แก่ เพลี้ยไก่แจ้หนอนม้วนใบ เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง และไร (พุ่มไม้กวาด) พบการระบาดเพียงเล็กน้อย โดยที่ปริมาณแมลงศัตรูลำไยทุกชนิดที่ตรวจนับได้ในแปลงที่ใช้วิธีการแนะนำและแปลงที่ใช้วิธีการเกษตรกรไม่มีความแตกต่างทางสถิติ การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อชักนำการออกดอกและติดผลช่วงฤดูฝนการเตรียมความพร้อมของต้นลำไยก่อนใส่สาร โดยพ่นปุ๋ยทางใบสูตร 0-52-34 อัตรา 120 - 150 กรัม/น้ำ 20 ลิตร 3 ครั้ง ห่างกัน 7 วันในระยะพักต้นก่อนการใส่สาร KClO3 และสูตร 10-52-17 อัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร 3 ครั้ง ห่างกัน 10 วัน ในช่วงเริ่มแทงช่อดอกการจัดการเพื่อกระตุ้นการออกดอก โดยหว่านสารโพแทสเซียมคลอเรต (KClO3) เป็นวงบริเวณรอบทรงพุ่ม ในอัตรา 150 กรัมต่อเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร การเพิ่มขนาดผลผลิต พ่นสารเอ็นเอเอ ความเข้มข้น 200 ppm หลังจากดอกบาน 15 วัน ลำไยมีการติดผลประมาณ 70% พบว่าแปลงทดสอบได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากกว่ากรรมวิธีเกษตรกรในด้านความกว้างผล ความยาวผล ความหนาผล ความหนาเนื้อ น้ำหนักเนื้อ/ผลและความหวาน (TSS) ผลผลิตเฉลี่ยแปลงทดสอบ 1,434 กิโลกรัม/ไร่ มีรายได้สุทธิ 64,063 บาท/ไร่ ในแปลงเกษตรกร 1,226 กิโลกรัม/ไร่ มีรายได้สุทธิ 48,183 บาท/ไร่ สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 3,280 บาท/ไร่ (20%) โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุนในแปลงทดสอบ (5) สูงกว่าแปลงเกษตรกร (3) จึงคุ้มค่ากับการลงทุนมากกว่า

          การทดสอบเทคโนโลยีที่การจัดการศัตรูลำไยเพื่อแก้ปัญหาสารพิษตกค้างในผลผลิตลำไยนอกฤดู จังหวัดเชียงใหม่ เปรียบเทียบวิธีการที่แนะนำด้านการดูแลรักษาต้นลำไยการตัดแต่งกิ่งการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูลำไยการจัดการเพื่อป้องกันการเข้าทำลายของศัตรูลำไยและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการแมลงศัตรูลำไยกับวิธีปฏิบัติของเกษตรกร พบการระบาดของเพลี้ยไก่แจ้สูงสุดร้อยละ 52.5 และ 29.6 ในแปลงที่ใช้วิธีการเกษตรกร และในแปลงที่ใช้วิธีการแนะนำตามลำดับ ในระยะใบอ่อนที่อากาศแห้งแล้ง รองลงมา คือ ไร ซึ่งเป็นระดับที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ จึงแนะนำให้ใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด ส่วนศัตรูพืชชนิดอื่นๆ เช่น หนอนม้วนใบ เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยหอย พบในปริมาณน้อย โดยที่ปริมาณแมลงศัตรูลำไยทุกชนิดที่ตรวจนับได้ในแปลงที่ใช้วิธีการแนะนำและแปลงที่ใช้วิธีการเกษตรกรไม่มีความแตกต่างทางสถิติจากผลการวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในแปลงทดสอบอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยแต่ในแปลงเกษตรกรยังมีความเสี่ยงจากการพบสารเคมีคาร์บาริลตกค้างในผลผลิตซึ่งยังไม่มีค่ามาตรฐาน MRL (Thai) เห็นได้ว่าผลผลิตในแปลงทดสอบมีความเสี่ยงในการปนเปื้อนสารพิษตกค้างน้อยกว่าแปลงเกษตรกร เนื่องจากมีการใช้สารเคมีตามคำแนะนำ เทคโนโลยีการจัดการศัตรูลำไยสามารถลดต้นทุนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูลำไยได้ร้อยละ 40 แปลงทดสอบได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากกว่ากรรมวิธีเกษตรกรค่าเฉลี่ยในด้านความกว้างผล ความยาวผล ความหนาผล ความหนาเนื้อ น้ำหนักเนื้อ/ผล และความหวาน (TSS) มากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร ผลผลิตเฉลี่ยแปลงทดสอบ 1,460 กิโลกรัม/ไร่ มีรายได้สุทธิ 51,100 บาท/ไร่ ในแปลงเกษตรกร 1,370 กิโลกรัม/ไร่ มีรายได้สุทธิ 35,970 บาท/ไร่ สามารถลดต้นทุนการผลิตด้านการผลิตลำไยนอกฤดูลงได้ 18% โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุนในแปลงทดสอบ (3.72) สูงกว่าแปลงเกษตรกร (2.57) จึงคุ้มค่ากับการลงทุนมากกว่าคุณภาพผลด้านการวิเคราะห์สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูลำไยตกค้างในผลผลิตลำไยนอกฤดูปี 2557/2558 โดยสุ่มเก็บผลผลิตลำไยวิเคราะห์สารพิษตกค้างในเกษตรกรทั้ง 5 ราย พบว่าในกรรมวิธีทดสอบพบสารเคมีตกค้าง 2 ชนิด คือ คลอร์ไพริฟอสใน 3 ราย (เฉลี่ย 0.09) และสารเคมีไซเปอร์เมทรินใน 3 ราย (เฉลี่ย 0.12) ส่วนกรรมวิธีเกษตรกรพบสารเคมีตกค้าง 4 ชนิด คือ คลอร์ไพริฟอส 4 ราย (เฉลี่ย 0.02) ไซเปอร์เมทริน 4 ราย (เฉลี่ย 0.31) แอล-ไซฮาโลทริน 1 ราย (เฉลี่ย 0.05) และคาร์บาริล 1 ราย (เฉลี่ย 1.31) ค่าที่พบทุกรายยังต่ำกว่าค่ามาตรฐาน MRL (Thai) ยกเว้นคาร์บาริลที่ไม่ระบุค่ามาตรฐานจากผลการวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในแปลงทดสอบอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยแต่ในแปลงเกษตรกรยังมีความเสี่ยงจากการพบสารเคมีคาร์บาริลตกค้างในผลผลิตซึ่งยังไม่มีค่ามาตรฐาน MRL (Thai) เห็นได้ว่าผลผลิตในแปลงทดสอบมีความเสี่ยงในการปนเปื้อนสารพิษตกค้างน้อยกว่าแปลงเกษตรกร เนื่องจากมีการใช้สารเคมีตามคำแนะนำ


ไฟล์แนบ
.pdf   75_2558.pdf (ขนาด: 611.22 KB / ดาวน์โหลด: 836)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม