ทดสอบเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังจังหวัดราชบุรี
#1
ทดสอบเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังจังหวัดราชบุรี
อุดม วงศ์ชนะภัย, ประสงค์ วงศ์ชนะภัย และเครือวัลย์ บุญเงิน
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปทุมธานี และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 

          ดำเนินการเพื่อลดปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังในพื้นที่เกษตรกร อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี จำนวน 10 รายๆ ละ 1 ไร่ โดยเปรียบเทียบกรรมวิธีในการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังระหว่างกรรมวิธีของเกษตรกรที่ไม่มีการแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง และกรรมวิธีทดสอบที่มีการป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน มีการแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารไทอะมิโทแซม 25%WG ก่อนปลูก สำรวจการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง หลังปลูก 1 เดือน เพื่อใช้พิจารณาการป้องกันกำจัดซึ่งมีทั้งการตัดส่วนที่ถูกทำลายไปเผา หรือใช้สารเคมีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ผลการดำเนินงานระหว่างปี 2556 - 2558 พบการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม สาเหตุเนื่องจากปริมาณการตกของฝนลดลง และประสบภาวะฝนแล้ง โดยส่วนใหญ่จะมีระดับความรุนแรงของการระบาดอยู่ในระดับที่ 1 และในฤดูปลูกปี 2558 ไม่พบการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู การแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังก่อนปลูกจะสามารถกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังที่ติดมากับท่อนพันธุ์ และสามารถควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังได้ ส่วนผลผลิตหัวสด และผลตอบแทนพบว่า การป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังโดยวิธีผสมผสานจะให้ผลผลิตหัวสด และผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่ไม่แตกต่างกันคือ ให้ผลผลิตหัวสดเฉลี่ย 3,602 กก./ไร่ และผลตอบแทนที่เป็นรายได้เหนือต้นทุนผันแปร 4,513 บาท/ไร่ (BCR = 2.27) ในขณะที่กรรมวิธีเกษตรกรให้ผลผลิตหัวสด 3,437 กก./ไร่ และรายได้เหนือต้นทุนผันแปร 4,248 บาท/ไร่ (BCR = 2.23) หรือสูงว่าร้อยละ 4.80 และ 6.24 ตามลำดับ


ไฟล์แนบ
.pdf   52_2557.pdf (ขนาด: 275.86 KB / ดาวน์โหลด: 327)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม