ศึกษาและวิเคราะห์การปลูกปาล์มน้ำมันของเกษตรกรจังหวัดนครพนม
#1
ศึกษาและวิเคราะห์การปลูกปาล์มน้ำมันของเกษตรกรจังหวัดนครพนม
นิยม ไข่มุกข์ และชำนาญ กสิบาล
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม

          การศึกษาวิเคราะห์การปลูกปาล์มน้ำมันของเกษตรกรจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่ที่มีการปลูกมากแห่งหนึ่ง เพื่อทราบข้อมูลการผลิตและประเด็นปัญหาที่แท้จริง และหาแนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้องและเหมาะสม ด้วยการสัมภาษณ์ตามแบบสำรวจข้อมูลและตรวจสอบพื้นที่จริง จำนวน 100 แปลง ดำเนินการในปี 2557 ผลการศึกษาและวิเคราะห์พบว่า  ส่วนใหญ่เป็นแปลงปลูกใหม่ยังไม่ให้ผลผลิตอายุ 1 - 3 ปี (ร้อยละ 69) มีแปลงที่ให้ผลผลิตแล้วอายุ 4 - 8  ปี ร้อยละ 41 แหล่งพันธุ์ส่วนใหญ่จากกรมวิชาการเกษตร  โดยพันธุ์ที่ปลูกมากที่สุดคือ สุราษฎร์ธานี 7 (ร้อยละ 25) รองลงมา คือ สุราษฎร์ธานี 2 (ร้อยละ 23) เหตุผลที่ปลูกคือคาดว่าจะได้ผลตอบแทนดีกว่าพืชเดิมที่เคยปลูก และใช้แรงงานน้อยดูแลรักษาง่าย พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม (ร้อยละ 50) ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย (ร้อยละ 58) พื้นที่เดิมเคยเป็นนาข้าวมากที่สุด (ร้อยละ 59) การปฏิบัติที่สอดคล้องตามคำแนะทางวิชาการ ได้แก่ การวางผังปลูกแบบสามเหลี่ยมด้านเท่า (ร้อยละ 55) ระยะปลูก 9 x 9 x 9 (ร้อยละ 42) พบต้นตายในระยะปลูกใหม่เพียงเล็กน้อย (ร้อยละ 0.2 - 9.0 ของจำนวนต้นที่ปลูก) จากการทำลายของหนู ด้วงกุหลาบ ไฟไหม้ น้ำท่วม และยอดเน่า การดูแลรักษาในระยะต้นเล็กพบว่า ไม่เป็นไปตามคำแนะนำทางวิชาการในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ได้แก่ การใส่ปุ๋ยเคมีซึ่งพบว่ามีเพียงส่วนน้อยที่เป็นไปตามคำแนะนำทางวิชาการ (ร้อยละ 7) และการให้น้ำเสริมในช่วงแล้ง (ร้อยละ 42) เพราะว่าแหล่งน้ำไม่เพียงพอ (ร้อยละ 32) และไม่มีการตัดแต่งช่อดอกในระยะต้นเล็ก 

          การจัดการปาล์มน้ำมันในระยะที่ให้ผลผลิต (อายุ 4 ปี ขึ้นไป) พบว่า ด้านที่ไม่เป็นไปตามคำแนะนำทางวิชาการในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ได้แก่ การใส่ปุ๋ยเคมี โดยเกษตรกรใส่ตามคำแนะนำเพียงร้อยละ 5 ซึ่งส่วนใหญ่ใส่ตามวิธีเกษตรกร (ร้อยละ 64)  สูตรปุ๋ยที่ใช้มีหลากหลายใช้มากที่สุดคือ 15-15-15 (ร้อยละ 27) ไม่มีการให้น้ำเสริมในช่วงแล้ง (ร้อยละ 45)  อายุที่เก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งแรกไม่เหมาะสม (อายุ 3 ปี) ร้อยละ 71 ผลผลิตค่อนข้างต่ำ โดยปาล์มน้ำมันอายุ 3  4 - 6 และ 7 - 8 ปี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 580  1,283 1,933 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ตามลำดับ  การตัดทางใบล่างโดยไม่เหลือก้านรองทะลายที่ต่ำกว่าทะลายล่างสุด 2 - 3 รอบ ในส่วนของปัญหาและอุปสรรค  ด้านระบบน้ำพบว่าเกษตรกรมีปัญหาถึงร้อยละ 74  ปัญหาที่พบมาก คือ แหล่งน้ำไม่พอเพียง (ร้อยละ 32) และความรู้ด้านการให้น้ำ (ร้อยละ 25) ด้านการขาดธาตุอาหารที่พบมากคือขาดธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียมร้อยละ 32 ขาดแมงกานีสและโบรอนร้อยละ 4 โดยเฉพาะแปลงที่ไม่มีการให้น้ำหรือได้รับปุ๋ยและน้ำไม่เพียงพอ  ศัตรูที่สำคัญคือหนูมีแปลงที่พบและได้รับความเสียหายร้อยละ 9  แมลงศัตรูที่พบมาก คือ ด้วงกุหลาบ หนอนร่าน โดยมีจำนวนแปลงที่พบร้อยละ 29 และ 10 แต่ไม่ค่อยรุนแรง ด้านโรคพืชไม่ค่อยที่เป็นปัญหารุนแรง มีพบบ้าง คือ ยอดเน่าและทางใบบิด (ร้อยละ 7) ใบจุด และทะลายเน่า (ร้อยละ 3) 

          ผลการศึกษาในครั้งนี้ทำให้ทราบวิธีการผลิตและประเด็นปัญหาการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่จังหวัดนครพนมได้เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางในการให้คำแนะนำและแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรได้ และยังเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกและดูแลรักษาปาล์มน้ำมันให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   59_2557.pdf (ขนาด: 361.15 KB / ดาวน์โหลด: 543)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม