ประเมินศักยภาพการผลิตถั่วเหลืองที่ปลูกในสภาพน้ำจำกัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (2.1.8)
#1
ประเมินศักยภาพการผลิตถั่วเหลืองที่ปลูกในสภาพน้ำจำกัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (2.1.8)
สมศักดิ์ อิทธิพงษ์ และอรวรรณ ภักดีไทย
ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น

          การประเมินศักยภาพการผลิตถั่วเหลืองอาศัยความชื้นในดินหรืออาศัยความชื้นในดินร่วมกับการให้น้ำ 1 - 2 ครั้ง หลังฤดูทำนา ที่บ้านคอกคี ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เพื่อปรับปรุงวิธีปลูกและจัดการหน้าดินช่วยรักษาความชื้นในดินให้ถั่วเหลืองงอก เจริญเติบโตและให้ผลผลิตสูงขึ้น ใช้แผนการทดลอง RCBD 3 ซ้ำ และ 8 กรรมวิธีปลูกและจัดการหน้าดินในฤดูแล้งปี 2556 ได้แก่ วิธีขุดหยอดระยะปลูก 40 x 20 เซนติเมตร (วิธีตรวจสอบ) วิธีขุดหยอดระยะปลูก 40 x 20 เซนติเมตร 5 เมล็ดต่อหลุม และคราดกลบย่อยหน้าดิน วิธีไถ 1 ครั้ง หว่านเมล็ดไร่ละ 15 กิโลกรัม และคราดกลบย่อยหน้าดิน วิธีหว่านเมล็ดไร่ละ 15 กิโลกรัม และพรวนดินกลบ วิธีหว่านเมล็ดไร่ละ 15 กิโลกรัม พรวนดินกลบและคราดย่อยหน้าดิน วิธีไถ 1 ครั้ง หว่านเมล็ดไร่ละ 20 กิโลกรัม และคราดกลบย่อยหน้าดิน วิธีหว่านเมล็ดไร่ละ 20 กิโลกรัม และพรวนดินกลบและวิธีหว่านเมล็ดไร่ละ 20 กิโลกรัม พรวนดินกลบและคราดย่อยหน้าดิน และ Split plot design 3 ซ้ำ ในฤดูแล้ง 2557 มี Main plot เป็นวิธีจัดการหน้าดิน ได้แก่ วิธีไม่คราดเกลี่ยและย่อยหน้าดิน วิธีคราดย่อยและเกลี่ยหน้าดิน 2 รอบ และวิธีคราดย่อยและเกลี่ยหน้าดินหลายรอบ Sub plot เป็นวิธีปลูก ได้แก่ วิธีขุดหยอดระยะปลูก 40x20 เซนติเมตร หลุมละ 5 เมล็ด (วิธีตรวจสอบ) วิธีโรยเมล็ดในร่องไถระยะระหว่างแถว 40 เซนติเมตร และ 25-30 เมล็ดต่อแถวยาว 1 เมตร วิธีหว่านเมล็ดไร่ละ 15 กิโลกรัม และพรวนคลุกเมล็ดด้วยจอบหมุน และวิธีหว่านเมล็ดไร่ละ 20 กิโลกรัม และคลุกเมล็ดด้วยจอบหมุน วิธีปฏิบัติทั่วไป ได้แก่ การไถ 1 ครั้ง หว่านปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 ไร่ละ 25 กิโลกรัม พร้อมไถพรวนเตรียมดินและคลุกเมล็ดด้วยปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม พื้นที่แปลงย่อยและเก็บเกี่ยว 3.2x8 เมตร ผลการทดลองพบว่า การปลูกและการจัดการหน้าดินวิธีต่างๆ ในฤดูแล้งปี 2556 ไม่ช่วยรักษาความชื้นในดิน และเปอร์เซ็นต์ความชื้นในดินชั้นความลึก 0 - 25 และ 25 - 50 เซนติเมตร ตั้งแต่ระยะหลังปลูกถึงก่อนงอก ระยะระหว่างฤดูปลูกและวันเก็บเกี่ยวไม่แตกต่างกันในแต่ละวิธีและลดลงตามลำดับ และต่ำมากในวันเก็บเกี่ยว ความชื้นในชั้นดินลึก 0 - 25 เซนติเมตร ลดลงต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 5 ส่งผลให้การเจริญเติบโตและผลผลิตของถั่วเหลืองไม่แตกต่างกันในฤดูแล้งปี 2556 เช่นเดียวกับวิธีจัดการหน้าดินโดยการคราดย่อยและเกลี่ยหน้าดิน 2 รอบ และการคราดย่อยและเกลี่ยหน้าดินหลายรอบ และวิธีปลูกทั้งวิธีขุดหยอดระยะปลูก 40 x 20 เซนติเมตร 5 เมล็ดต่อหลุม วิธีโรยเมล็ดในร่องไถระยะร่อง 40 เซนติเมตร 25 - 30 เมล็ดต่อแถวยาว 1 เมตร วิธีหว่าน 15 กิโลกรัมต่อไร่และคลุกเมล็ดด้วยจอบหมุน และวิธีหว่าน 20 กิโลกรัมเมล็ดต่อไร่และคลุกเมล็ดด้วยจอบหมุน ในฤดูแล้งปี 2557 ที่ไม่มีผลช่วยรักษาความชื้นในดินให้แตกต่างจากวิธีไม่คราดเกลี่ยและย่อยหน้าดิน โดยความชื้นในดินชั้นความลึก 0 - 25 เซนติเมตร ลดต่ำลงเหลือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 อย่างไรก็ตามวิธีปลูกและจัดการหน้าดินในฤดูแล้ง 2556 มีผลต่อการงอกและอยู่รอดคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของจำนวนเมล็ดใช้ปลูกแตกต่างกันทางสถิติ วิธีขุดหยอดระยะ 40 x 20 เซนติเมตร 5 เมล็ดต่อหลุม และวิธีขุดหยอดระยะ 40 x 20 เซนติเมตร 5 เมล็ดต่อหลุม และคราดกลบย่อยหน้าดินมีจำนวนต้นเก็บเกี่ยว คิดเป็น 73.9 และ 67.8 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ สูงกว่าวิธีอื่นๆ แต่วิธีจัดการหน้าดินแตกต่างกันมีจำนวนต้นเก็บเกี่ยวต่างกัน แต่ไม่ส่งผลถึงผลผลิต ส่วนฤดูแล้ง 2557 พบว่าวิธีจัดการหน้าดินไม่ส่งผลต่อจำนวนต้นเก็บเกี่ยวและจำนวนต้นเก็บเกี่ยวคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของจำนวนเมล็ดใช้ปลูก แต่วิธีปลูกต่างๆ กัน ส่งผลให้จำนวนต้นเก็บเกี่ยวคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของจำนวนเมล็ดใช้ปลูกแตกต่างกัน โดยวิธีโรยเมล็ดในร่องไถระยะร่อง 40 เซนติเมตร 25 - 30 เมล็ดต่อเมตร มีจำนวนต้นเก็บเกี่ยวคิดเป็น 59.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าวิธีอื่นๆ แต่ไม่แตกต่างจากวิธีขุดหยอด ระยะปลูก 40 x 20 เซนติเมตร หลุมละ 5 เมล็ด และวิธีหว่าน 15 กิโลกรัมเมล็ดต่อไร่ และคลุกเมล็ดด้วยจอบหมุน ดังนั้นวิธีปลูกและจัดการหน้าดินไม่มีผลแตกต่างกันในการรักษาความชื้นในดินตลอดฤดูปลูก แต่วิธีขุดหยอดระยะ 40 x 20 เซนติเมตร หลุมละ 5 เมล็ด และวิธีขุดหยอด ระยะ 40 x 20 เซนติเมตร หลุมละ 5 เมล็ด และคราดกลบย่อยหน้าดินในฤดูแล้ง 2556 และวิธีโรยเมล็ดในร่องไถ ระยะร่อง 40 เซนติเมตร 25-30 เมล็ดต่อแถวยาว 1 เมตร วิธีขุดหยอด ระยะปลูก 40 x 20 เซนติเมตร หลุมละ 5 เมล็ด และวิธีหว่าน 15 กิโลกรัมเมล็ดต่อไร่ และคลุกเมล็ดด้วยจอบหมุนในฤดูแล้งปี 2557 ที่ส่งผลให้ถั่วเหลืองงอกและอยู่รอดถึงเก็บเกี่ยวเป็นเปอร์เซ็นต์ของจำนวนเมล็ดใช้ปลูกสูงกว่าวิธีอื่นๆ


ไฟล์แนบ
.pdf   78_2557.pdf (ขนาด: 143.11 KB / ดาวน์โหลด: 419)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม