การทดสอบพันธุ์ถั่วเขียวผิวมันที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์
#1
การทดสอบพันธุ์ถั่วเขียวผิวมันที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์
สุทธิดา บูชารัมย์ และสันติ พรหมคำ           
สังกัดศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรบุรีรัมย์ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4

          ดำเนินการทดสอบตั้งแต่ปี 2555 - 2557 ในไร่เกษตรกรหลังนาเขตชลประทาน บ้านสวายจีก ตำบลสวายจีก อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เกษตรกรร่วมดำเนินการ 5 รายๆ ละ 2 ไร่ เป็นเกษตรกรที่มีประสบการณ์ปลูกถั่วเขียวอย่างน้อย 5 ปี วัตถุประสงค์เพื่อได้ถั่วเขียวผิวมันพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และกระจายพันธุ์ถั่วเขียวผิวมันที่ได้รับการยอมรับลงสู่มือเกษตรกร การทดสอบเป็นการเปรียบเทียบพันธุ์ระหว่างพันธุ์ชัยนาท 72 ชัยนาท 36 และพันธุ์ที่พบในท้องถิ่น  2 พันธุ์ คือ พันธุ์เมล็ดกลางโคกตาสิงห์ และพันธุ์เมล็ดเล็กสวายจีก วิธีการทดสอบ เกษตรกรไถกลบตอซังข้าวนาน 15 - 20 วัน ปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ ปล่อยน้ำเข้าท่วมแปลงขังน้ำไว้ 1 - 2 คืนจนดินอิ่มน้ำ คลุกเมล็ดถั่วเขียวอัตรา 5 กก./ไร่  ด้วยเชื้อไรโซเบียมแล้วหว่านเมล็ดทิ้งไว้ 1 คืน ปล่อยน้ำที่ขังออก หว่านปุ๋ย 12-24-12 อัตรา 15 กก./ไร่ และพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเมื่อพบการแพร่ระบาดของศัตรูพืชในระดับเศรษฐกิจ ผลการทดสอบ ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 72 ให้ผลผลิต และน้ำหนัก 1,000 เมล็ด สูงสุดเฉลี่ย 101.23 กก./ไร่ และ 66.94 กรัม ตามลำดับ เกษตรกรยอมรับเทคโนโลยีทางด้านพันธุ์ คือ พันธุ์ชัยนาท 72 ร้อยละ 100 ตลอดฤดูปลูกไม่พบการเข้าทำลายของศัตรูพืช แต่ปี 2556 - 2557 ช่วงระยะออกดอกติดฝัก ประสบภัยแล้ง ทำให้ทั้ง 4 สายพันธุ์ผลผลิตลดลงร้อยละ 30 - 50 และพบว่า พันธุ์เมล็ดเล็กสวายจีก มีสภาวะทนแล้งหรืออัตราการรอดจนถึงระยะเก็บเกี่ยวสูงที่สุด คือ ร้อยละ 45  พันธุ์ชัยนาท 72 ชัยนาท 36 และ พันธุ์เมล็ดกลางโคกตาสิงห์ เท่ากัน คือ ร้อยละ 30 


ไฟล์แนบ
.pdf   102_2557.pdf (ขนาด: 182.47 KB / ดาวน์โหลด: 653)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม